×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ชั่งน้ำหนักสิทธิประกันสังคมหลังเกษียณ

29,954

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

มนุษย์เงินเดือนแบบเราๆ จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมมาตลอดชีวิตการทำงาน ที่ผ่านมาใช้สิทธิประโยชน์บ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง เพราะยังหารายได้มีเงินใช้สะดวกอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งสิทธิประกันสังคม

 

แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ ไม่ได้ทำงาน ขาดรายได้ประจำ หลายคนคงสนใจว่า กองทุนประกันสังคมที่เราจ่ายเงินสมทบมาตลอดจะให้สิทธิประโยชน์อะไรกับเราบ้าง?

 

สิทธิประโยชน์แรกที่จะได้ก็คือ “สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ” ในรูปแบบเงินบำเหน็จหรือบำนาญ ซึ่งแต่ละคนจะได้รับแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบ ดังนี้

 

  1. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน เราจะได้บำเหน็จชราภาพ จำนวนเท่ากับเงินที่เราจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น 
  2. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน (เท่ากับ 15 ปี)  เราจะได้เงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับเงินสมทบที่เราและนายจ้างจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน
  3. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน เราจะได้บำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

และถ้าเราจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน เราก็จะได้บำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือนไปจนเสียชีวิต

 

การมีสิทธิรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญยังมีเงื่อนไขอีกข้อคือ ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หมายความว่า เราจะไม่เป็นสมาชิกประกันสังคม ซึ่งทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ไปด้วย (ส่วนสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ถ้าอายุเกิน 55ปี เราก็ไม่ได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว)

 

ถ้าเราอยากรักษาสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ได้จากประกันสังคม เราก็ต้องยืดอายุสมาชิกประกันสังคม โดยไปเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39)

 

คนที่จะสมัครได้ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

 

เมื่อสมัครมาตรา 39 แล้ว จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 432 บาทต่อเดือน โดยเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน คิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)

 

ประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33  และได้นับอายุสมาชิกประกันสังคมต่อเนื่องจากมาตรา 33 ด้วย

 

ข้อเสียของการต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 คือ เรายังเป็นสมาชิกประกันสังคมอยู่ ดังนั้นช่วงที่ต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 จะไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญจากประกันสังคมทั้งสิ้น

 

แต่เนื่องจากอายุคนเรามีจำกัด ยิ่งเราต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 นานเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาใช้เงินบำนาญน้อยลงเท่านั้น

 

ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 33 มา 10 ปี และเราอายุ 55 ปีแล้ว หากออกจากประกันสังคมตอนนี้ เราจะได้บำเหน็จ แต่เรายังอยากได้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม และอยากได้รับเงินบำนาญแทน เราก็เลยต่ออายุสมาชิกประกันสังคมด้วยมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทไปเรื่อยๆ สมมติว่าเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 39 ไปจนตาย เท่ากับเราจะไม่ได้รับเงินบำนาญจากประกันสังคมเลย

 

แต่ถ้าเราเลือกออกจากประกันสังคมก่อนเสียชีวิตจะเป็นยังไง?

 

ยกตัวอย่าง หากเราเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 33 มา 15 ปี และเราอายุ 55 ปีแล้ว และเราต่ออายุสมาชิกประกันสังคมด้วยมาตรา 39 ไปอีก 10 ปี

 

ในช่วง 10 ปีที่ต่อมาตรา 39 เราจะได้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคมแลกกับการที่จะไม่ได้รับเงินบำนาญจากประกันสังคม เมื่อเราออกจากประกันสังคม เงินบำนาญที่จะได้รับจะคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

ในกรณีนี้จะเท่ากับ 4,800 บาทไม่ใช่ 15,000 บาทอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่าจำนวนปีที่ใช้คำนวณจะมากขึ้น แต่ด้วยฐานค่าจ้างที่ลดลงมากถึง 2 ใน 3 ทำให้เงินบำนาญเราลดน้อยลง

 

จากตัวอย่างนี้ ถ้าออกจากประกันสังคมเมื่อเป็นสมาชิกมา 15 ปี เราจะได้เงินบำนาญ 20% ของ 15,000 บาท = 3,000 บาท/เดือน

 

แต่หากเราต่อมาตรา 39 อีก 10 ปี เราจะได้เงินบำนาญเท่ากับ 1,680 บาท/เดือน โดยคำนวณดังนี้

 

15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20% บวกกับ 10 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ปรับเพิ่ม) × 10ปี) = 15% รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี = 20% + 15% = 35%

 

เราก็จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 35% ของ 4,800 บาท = 1,680 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต  
นอกจากจำนวนเงินบำนาญจะได้น้อยลง ระยะเวลาได้ใช้เงินบำนาญก็ลดน้อยลงด้วย ดังนั้นก่อนสมัครมาตรา 39 ตัดสินใจให้ดี ต้องการสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือเงินบำนาญมากกว่ากัน

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats