×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

“ซ่า” ในตลาดหุ้น อาจอดและหมดตัว

7,998

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ถึงแม้นักลงทุนจะรับรู้และคิดว่าตลาดหุ้นมีขึ้นย่อมมีลง มีกำไรย่อมมีขาดทุน แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นกันบ่อยที่บางคนอยากลองของกับการลงทุน ที่สำคัญบางคนไม่ยอมนำบทเรียนมาปรับประยุกต์เพื่อให้การลงทุนของตัวเองอยู่ในเส้นทางถูกต้องและมีกำไร

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความซ่า หนีไม่พ้นอารมณ์พาไป โดยเฉพาะอารมณ์ที่เกิดจากความโลภ ซึ่งหากนักลงทุนใช้เหตุผล มีสติในการตัดสินใจ อาการซ่าคงไม่มี ตรงกันข้ามหากเลือกหุ้นด้วยอารมณ์ โดยไม่มีข้อมูลมารองรับ ถึงขั้นหมดตัวในเร็ววัน

 

เพราะความซ่า คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เงินร่อยหรอ ความซ่า คือเครื่องมือบั่นทอนความสำเร็จ และมีโอกาสสูงมากที่จะสร้างหายนะแก่พอร์ตลงทุน

 

มาดูว่าอาการ “ซ่า” ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับนักลงทุนทุกคน มีอะไรบ้าง

 

ซ่าระห่ำ

บุกแหลก เป็นคติประจำใจของนักลงทุนประเภทไม่เคยรู้จักคำว่าใส่เกียร์ถอย เพราะรู้สึกว่ายิ่งบุกยิ่งรวยเร็ว โดยเฉพาะมักจะบุกแหลกกับหุ้นที่ราคาต่ำๆ ต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเวลาบุกจะใช้เม็ดเงินจำนวนไม่เยอะ เช่น หุ้น XYZ ราคา 1 บาท อยากได้แสนหุ้นก็ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท แต่ถ้าซื้อหุ้นที่มีราคา 30 บาท ต้องมีเงินอย่างน้อยๆ 3 ล้านบาท

 

นอกจากชอบบุกแหลกกับหุ้นที่มีราคาต่ำๆ แล้ว หุ้นตัวนั้นมักเป็นหุ้นที่มาแรงแซงทางโค้ง กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักเก็งกำไร โดยหุ้นประเภทนี้เวลามีข่าวที่มาจากไหนไม่มีใครรู้จะทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นๆ วิ่งราวติดจรวด ราคาถูกไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อนักลงทุนเริ่มเข้ามาเริ่มบุก และสังเกตได้ว่ามักจะบุกแหลกไม่ลืมหูลืมตาก็ต่อเมื่อหุ้นตัวนี้กำลังถูกขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

บทสรุปของความซ่า หนีไม่พ้นติดดอยจากการออกไม่ทัน เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาบุกแหลก โดยไม่ดูว่าหุ้นที่กำลังลงทุนอยู่นั้นมีปัจจัยพื้นฐานรองรับหรือไม่ มีประวัติการซื้อขายเป็นอย่างไร

 

ซ่าไม่เลือก

นักลงทุนประเภทนี้ชอบลงทุนแบบเฮไหนเฮนั่น คือหุ้นตัวไหนที่เพื่อนข้างๆ กำลังเคาะซื้อก็ขอพ่วงตามไปด้วย และไม่พลาดกับหุ้นที่ได้รับการแชร์อย่างล้นหลามจากสังคมออนไลน์ เพราะเชื่อว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะทำกำไรได้ในวันนี้ แบบขอมีส่วนกำไรแค่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่ากับข้าวก็พอ

 

คำถามคือ นักลงทุนประเภทนี้แทบจะไม่รู้เลยว่าหุ้นที่ซื้อนั้นทำธุรกิจอะไร ผลประกอบการเป็นอย่างไร ผู้บริหารชื่ออะไร ใครคือผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่สำคัญไม่เคยหยิบบทวิเคราะห์หุ้นตัวนี้มาอ่าน เพราะเชื่อว่าข้อมูลจากเพื่อนรอบข้างดีที่สุด

 

บทสรุป ถึงแม้จะได้กำไรแต่ก็เล็กๆ น้อยๆ ส่วนในระยะยาวมักลงเอยด้วยความล้มเหลว

 

ซ่าใจร้อน

แน่นอนว่าภาวะตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาย่อมทำให้ตื่นเต้นไปกับผลกำไรที่ทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อย่ำแย่มาจากวิกฤติในช่วงก่อนหน้า ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่นักลงทุนอยากเอาคืนทั้งต้นทั้งดอก สิ่งที่หลายคนทำคือ ซื้อหุ้นอย่างรวดเร็วจนเงินหมดหน้าตัก ด้วยความคิดที่ว่าต้องรีบซื้อเดี๋ยวหุ้นขึ้นหนีไปไกล

 

แต่นักลงทุนประเภทนี้มักลืมไปว่าภาวะตลาดกระทิงที่หุ้นกำลังไต่ระดับขึ้นไปนั้นมีความผันผวนสูง หุ้นพร้อมที่จะปรับฐานหลังจากขึ้นไปรอบใหญ่ นักลงทุนไม่มีทางคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่าเวลานั้นๆ เป็นจังหวะที่ดีต่อการซื้อหุ้นแล้วหรือยัง จึงไม่มีคำว่า “ใจเย็น” คือ รอจังหวะ

 

พูดง่ายๆ เมื่อราคาหุ้นย่อลงมาก็ไม่มีเงินให้ซื้ออีก เพราะใส่ไปหมดหน้าตักแล้ว นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่ชอบถือเงินสด เพราะลืมไปว่าเมื่อมีเงินสดในมือมาก หมายความว่ามีกลยุทธ์ให้เลือกใช้ได้มากตามภาวะตลาด

 

บทสรุป พลาดที่จะทำกำไรงามๆ จากราคาเมื่อหุ้นย่อลง

 

ซ่าขี้โม้

สังเกตหรือไม่ว่า เวลานั่งอยู่ในห้องค้าหรือมีโอกาสสนทนากับนักลงทุนประเภทนี้ก็มักเห็นถึงอาการขี้โม้ พวกเขาจะมีข้อมูลและรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง สามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ทั้งโลก รู้จักหุ้นทุกตัว รู้กลยุทธ์การลงทุนทุกอย่าง พวกเขาสามารถคุยเรื่องหุ้นได้ตั้งแต่ก่อนตลาดเปิดจนถึงตลาดปิดได้สบายๆ

 

แต่ถ้าเปิดดูพอร์ตหุ้นของนักลงทุนประเภทนี้ มักพบว่าไม่ประสบความสำเร็จเหมือนข้อมูลที่พวกเขามี หุ้นบางตัวขาดทุนมานานแสนนานก็ยังไม่ขายตัดขาดทุน หุ้นบางตัวกำไรเกินเป้าหมายก็ไม่ขายทำกำไร หุ้นบางตัวมาได้อย่างไรทั้งๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง

 

บทสรุป นักลงทุนกลุ่มนี้มักรับข้อมูลข่าวสารทุกที่ทุกเวลา แต่ไม่คัดกรองว่าข้อมูลไหนจริง ข้อมูลไหนเท็จ แต่จะจับมาผสมโรงกันแล้วทำการวิเคราะห์ตัดสินใจด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ คิดเองเออเอง

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats