×

Wealth Me Up คำพ่อสอน

น. น้ำ

1,941

 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับประชาชนมิอาจแยกจากกันได้ ก็เพราะสิ่งพิเศษหนึ่งที่เชื่อมพระองค์กับประชาชนไว้อย่างแน่นแฟ้น นั่นคือ น้ำ

 

“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

 

ด้วยความสำคัญยิ่งของ “น้ำ” ดังพระราชดำรัสนี้ พระองค์จึงพระราชทาน “นำ้” ให้แก่ราษฎร จากการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรครั้งแรกๆ ดังเช่น พระราชดำริเรื่องโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ และพระราชดำริเรื่องโครงการฝนหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๙๘

 

ครั้งหนึ่งราษฎรหมู่บ้านหนึ่งใน จ.สุโขทัยกราบบังคมทูลขอให้พระองค์พัฒนาถนนจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง เพราะมีฝุ่นมาก แต่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญและเร่งด่วนกว่า พระองค์มีพระราชดำรัสเล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า

 

“…ก็เลยถามเขาว่า พวกเราชอบกินอะไร ชอบกินข้าวหรือกินฝุ่น เขาก็บอกว่าชอบกินข้าว ถ้าชอบกินข้าวก็สมควรที่จะพัฒนาให้มีข้าวมากขึ้น ให้มีรายได้ เมื่อกินข้าวได้แล้วและมีรายได้มากขึ้น การลาดยางพัฒนาถนนนั้นเป็นเรื่องเล็กง่ายมาก เขาก็พอเข้าใจ…”

 

ทั้งน้ำบนดินและแม้แต่น้ำบนฟ้า พระองค์ทรงมุ่งมั่นศึกษาค้นหาวิธีการจัดการเพื่อพระราชทานน้ำบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎรทั่วทุกภาคมาโดยตลอด

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำจะมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับงานด้านอื่นๆ

 

ยิ่งกว่านั้นยังมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบถ้วนในทุกๆด้าน ตั้งแต่น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเน่าเสีย รวมไปถึงการพัฒนาฟื้นฟูป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ

 

“…การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง”

 

มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ เล่าว่าครั้งหนึ่งหญิงชราที่ประสบความทุกข์จากภัยแล้งหนักได้คลานเข้ากอดพระบาทของในหลวงด้วยน้ำตาอาบแก้มเพื่อขอพระราชทานน้ำ ในหลวงมีรับสั่งตอบว่า

 

“ยายไม่ต้องห่วงแล้วนะ ต่อไปนี้จะมีน้ำ เราเอาน้ำมาให้”

 

แล้วพระองค์ก็เสด็จฯ กลับไปยังรถยนต์พระที่นั่ง ฉับพลันฝนก็ตกลงมาเป็นครั้งแรกในรอบปี สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ราษฎรในที่นั้น

 

ความอัศจรรย์นี้เชื่อว่ามิได้มาจากอิทธิฤทธิ์ใด แต่เพราะด้วยพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความสุขของราษฎร โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย ดังภาพพระเสโทบนพระพักตร์ของพระองค์ในแทบทุกครั้งที่เสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

 

หยด “น้ำ” จากพระเสโทที่ตกต้องผืนดินนี้ละ คือน้ำทิพย์ที่ชุบชีวิตให้แก่ผืนดินและอาณาประชาราษฎร์

 

ที่มา : หนังสือ ตามรอยพ่อ ก-ฮ  ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์

Related Stories

amazon anti fatigue mats