×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

บทเรียนธุรกิจจาก Amazon

5,165

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

จดหมายจากผู้บริหารอย่าง Jeff Bezos ถึงผู้ถือหุ้น Amazon ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดหลักคิดการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้บริษัทยืนหยัดอยู่แถวหน้าของวงการในทุกวันนี้

 

Wealth Me Up ได้คัดเลือกแนวคิดจากจดหมายถึงผู้ถือหุ้น 4 ฉบับ จาก 4 ปี โดยบางปีเป็นช่วงที่ Amazon มีพัฒนาการสำคัญๆ ส่วนบางปีก็เป็นห้วงเวลาแห่งความท้าทายของธุรกิจทั่วโลก แต่ Amazon ก็อยู่รอดผ่านวิกฤตดังกล่าวมาได้ จึงน่าสนใจว่า ผู้บริหารบริษัทคิดอะไรอยู่…

 

ปี 1997: มีผู้ถือหุ้นที่สนับสนุนคุณค่าขององค์กร

ในปี 1997 Amazon ขายหุ้น IPO ราคาหุ้นละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2018 ราคาหุ้น Amazon สูงกว่าราคา IPO ประมาณ 100 เท่า

 

ตั้งแต่เริ่มต้น Bezos ประกาศชัดว่า บริษัทจะไม่ได้เน้นเรื่องกำไรหรือผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นโดยตรง แต่จะทุ่มเทสรรพกำลังเต็มๆ 100% ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมส่งผลดีกลับมาที่ผู้ถือหุ้น

 

Bezos บอกกับผู้ถือหุ้นผ่านจดหมายว่า บริษัทให้น้ำหนักกับความสำเร็จในระยะยาว ดังนั้นอาจจะตัดสินใจทำอะไรแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ซึ่งความชัดเจนแบบคงเส้นคงวาของ Bezos นี่เองที่เป็นแรงดึงดูดนักลงทุนที่มีแนวคิดเดียวกันเข้ามาลงทุนและสนับสนุนเงินให้บริษัทเสมอ แม้ในยามที่ Amazon อาจทำอะไรแหวกแนวไปบ้าง

 

ปี 2000: ช่วง Lean ธุรกิจ ต้องมีกระแสเงินสดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ช่วงฟองสบู่ดอทคอมในตลาดหุ้น ที่บรรดาสตาร์ทอัพเทคโนโลยีส่วนใหญ่พากันล้มระเนระนาด แต่ Amazon กลับลอยลำ และนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2000 บริษัทมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 20 เท่า

 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Amazon อยู่รอดท่ามกลางการล่มสลายของเพื่อนรวมวงการ เพราะบริษัทมีเงินสดอยู่ในมือ บริษัทไม่ปล่อยให้สินค้าค้างในสต็อกนาน ขณะเดียวกันจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าก่อนเอาเงินไปจ่ายซัพพลายเออร์ การทำแบบนี้ทำให้บริษัทมีเงินสดไหลเข้าตลอด และรอดพ้นวิกฤตมาได้

 

จดหมายประจำปีนั้น บอสใหญ่ได้พูดถึงปี 2001 ว่าจะเหมือนกับปี 2000 ที่บริษัทให้ความสำคัญกับการโฟกัสและการดำเนินงานตามแผน พร้อมตั้งเป้าจะทำกำไรจากการดำเนินงานให้สำเร็จในไตรมาสที่ 4

 

ปี 2008: Work backwards เริ่มจากความต้องการของลูกค้าเพื่อรู้ว่าต้องสร้างอะไรต่อไป

ในปีที่เกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ Bezos ก็ได้ถ่ายทอดหลักคิดที่แตกต่างอีกครั้ง

 

สำหรับหลายๆ บริษัท เวลาคิดผลิตอะไรมักจะมองจากสิ่งที่ตัวเองถนัดก่อน แต่บอส Amazon บอกว่า บางครั้งต้องมองต่างมุมบ้าง หากอยากทำให้ลูกค้าตื่นเต้นดีใจและทึ่ง ก็ต้องลองคิดกลับกันว่า จริงๆ ลูกค้าต้องการอะไร ก่อนจะหาวิธีทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบที่ลูกค้าต้องการ

 

การมองในมุมของลูกค้าจะเปิดโอกาสให้บริษัทได้ทำอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น Amazon ไม่เคยทำเรื่องฮาร์ดแวร์ แต่เมื่อปิ๊งไอเดียเรื่อง Kindle ที่ต้องทำทั้งฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์อีบุ๊ก บริษัทก็จ้างพนักงานใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านนี้มาทำงานสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกอย่างหนึ่งของบริษัท

 

ปี 2017: สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสูง

นี่คือสาระสำคัญในจดหมายฉบับล่าสุดที่บอส Amazon บอกกับผู้ถือหุ้น

 

คนทั่วไปมักคิดกันว่ามาตรฐานสูงเป็นธรรมชาติของคนบางคน แต่ Bezos คิดว่าเป็นสิ่งที่สอนกันได้ และหากบริษัทไหนต้องการแข่งขันได้ ก็ต้องสอนเรื่องมาตรฐานสูงให้แก่คนในองค์กร และต้องทำให้มั่นใจด้วยว่ามาตรฐานภายในองค์กรไม่ลดลง แต่ต้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความคาดหวังของลูกค้า

 

ถ้าอยากมีมาตรฐานสูง ก็ต้องสร้างและสื่อสารความเชื่อที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับความยากลำบากในการทำสิ่งต่างๆ และจะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งไม่ดี สิ่งที่ดี และสิ่งที่ยอดเยี่ยม

 

องค์กรไหนมีผู้นำที่ช่วยให้ทีมงานรู้เรื่องคุณภาพและเข้าใจขอบเขตของมันก็จะทำให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าได้

 

เหล่านี่คือหลักคิดของผู้บริหาร Amazon ที่ได้พาองค์กรเติบโตแบบก้าวกระโดดและผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างสวยงาม

 

ที่มา: www.cbinsights.com

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats