×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

1O กองทุน LTF ที่นักลงทุนไทยนิยมลงทุนมากที่สุด

125,368

 

เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 กันแล้ว นักลงทุนท่านใดที่กำลังมองหาจังหวะจะลงทุนในกองทุน LTF และ RMF กันอยู่นั้น วันนี้เรามีข้อมูลของ 10 กองทุน LTF ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด (ดูจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560) เพื่อเป็นทางเลือกและข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในช่วงที่เหลืออยู่ของปี

 

ซึ่งก่อนจะไปถึงตรงนั้น อย่าลืมตรวจสอบสิทธิในการลงทุนทั้งใน LTF และ RMF กันให้ดีๆก่อนเพราะทางสรรพากรมีการปรับอัตราฐานภาษีใหม่ประจำปีนี้ รวมไปถึงค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ได้มีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน ดังนั้นไปตรวจสอบกันให้ดีๆ ก่อนลงทุนจะได้ไม่ลงทุนเกินสิทธิที่เราได้รับ

 

และนี่คือ 10 อันดับกองทุน LTF ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุด

 

1.กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 51,473 ล้านบาทหรือคิดเป็น 15.58% ของมูลค่า LTF ทั้งหมด

กองทุนนี้มีจุดเด่นในเรื่องของสไตล์การบริหารที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่ อีกทั้งทีมผู้จัดการกองทุนมีสไตล์การลงทุนแบบ Buy and Hold เน้นการลงทุนระยะยาว เน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยง และที่สำคัญกองทุนนี้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกองทุนในระดับต่ำที่ประมาณ 1.66% ต่อปีและไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อ

ส่วนข้อด้อยคือ ถ้าลงทุนไม่ถึง 1 ปีจะมีค่าธรรมเนียมการขาย

 

2.กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล (KFLTFDIV)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 39,759 ล้านบาท

เป็นอีกหนึ่งกองทุน LTF ที่โดดเด่นในเรื่องของการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งผลการดำเนินงานในอดีตที่โดดเด่น ถึงแม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะดร็อปลงไปบ้างก็ตาม โดยกองทุนนี้จะเน้นการลงทุนไปที่หุ้นปันผลขนาดใหญ่

แต่ข้อด้อยคือเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บในอัตรา 2.35% ต่อปี นั้นจะค่อนข้างสูงกว่ากองทุนอื่นๆ

 

3.กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (BLTF75)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 32,417 ล้านบาท

กองทุนนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ชอบการลงทุนสไตล์ของ บลจ. บัวหลวง แต่ไม่อยากรับความเสี่ยงในหุ้นแบบเต็มที่ เพราะกองทุนนี้ลงทุนหุ้นเพียงแค่ 75% เท่านั้น และในส่วนของพอร์ตการลงทุนก็เรียกได้ว่าคล้ายกันกับกอง B-LTF มากอาจจะต่างกันที่น้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้นก็เก็บถูกเพียงแค่ 1.66% ต่อปี และไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อ แต่ถ้าลงทุนไม่ถึง 1 ปี ก็มีค่าธรรมเนียมการขายคืนไม่เกิน 1%

 

4.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 (SCBLT1)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 28,597 ล้านบาท

เป็นกองทุน LTF ขวัญใจของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากหุ้นแบบ 100% เพราะเน้นลงทุนหุ้นเพียงแค่ 70% เท่านั้น ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี SET 50 ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนแบบปานกลาง

ส่วนของค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บ ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆที่ 1.77% ต่อปี และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมซื้อ แต่ถ้าลงทุนไม่ถึง 1 ปีมีค่าธรรมเนียมการขายกองทุน

 

5.กองทุนเปิดเค 70:30 หุ้นระยะยาวปันผล (K70LTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 26,074 ล้านบาท

เป็นกองทุนจาก บลจ.กสิกรไทย สำหรับผู้ลงทุนที่นิยมลงทุนใน LTF แบบ 70:30 (หุ้น:ตราสารหนี้) กองทุนนี้เน้นลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่ และตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนระยะสั้นถึง 1-3 ปีเป็นหลัก และมีนโยบายจ่ายเงินปันผล

แต่ก็มีข้อด้อยคือ การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกองทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.13% ต่อปี และถ้าลงทุนไม่เกิน 1 ปี จะมีค่าธรรมเนียมขายออก 1.5% ด้วย

 

6.กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาวปันผล (KDLTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 15,998 ล้านบาท

เป็นกองทุนจาก บลจ. กสิกรไทย มีนโยบายจ่ายเงินปันผล อย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แต่ก็มีข้อด้อยคือ การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกองทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.13% ต่อปี และถ้าลงทุนไม่เกิน 1 ปี จะมีค่าธรรมเนียมขายออก 1.5% ด้วย

 

7.กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาว (KEQLTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ  13,249 ล้านบาท

จาก บลจ. กสิกรไทย เช่นกัน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกองทุนคู่แฝดกับกองทุน KDLTF ในส่วนของสไตล์การลงทุน เพียงแต่กองทุนนี้ ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลซึ่งก็เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายกองทุนนั้นกองทุนเรียกเก็บอยู่ที่ 2.11% ต่อปี และถ้าลงทุนไม่เกิน 1 ปี ก็จะมีค่าธรรมเนียมขายออก 1.5% ด้วย

 

8.กองทุนเปิด อเบอร์ดีนหุ้นระยะยาว (ABLTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 11,838 ล้านบาท

ด้วยสไตล์การลงทุนแบบ Bottom up คัดเลือกหุ้นอย่างละเอียด ทำให้กองทุนนี้มีสไตล์การลงทุนแบบ Buy and Hold เน้นการลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก ดังนั้นการหมุนเวียนของหุ้นในพอร์ตจะไม่สูง เรียกได้ว่าผู้ลงทุนต้องเชื่อมั่นต่อปรัชญาในการลงทุนของ บลจ.
ทั้งนี้เมื่อดูจากพอร์ตการลงทุนล่าสุดจะเห็นได้ว่าถือหุ้นอยู่ประมาณ 30 ตัว และส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี โดยที่กองทุนนี้มีการเก็บค่าใช้จ่ายสูงที่ประมาณ 2.05% ต่อปีและไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

 

9.กองทุนเปิดเค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล (K20SLTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 10,339 ล้านบาท


อีกหนึ่งกองทุนเด่นจาก บลจ. กสิกรไทย ที่มีนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนคือ เน้นเลือกหุ้นที่ดีที่สุด (high conviction) มาลงทุนเพียง 20 ตัวเท่านั้น ซึ่งหลายคนก็อาจจะมองว่าน้อยไปหรือไม่ในมุมของการกระจายความเสี่ยง โดยตรงจุดนี้ ก็ถือว่าอาศัยฝีมือผู้จัดการกองทุนล้วนๆ

ในส่วนค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บนั้นก็สูงเท่าๆกับ LTF กองทุนอื่นๆของ บลจ. กสิกรไทย ที่ระดับประมาณ 2.11% ต่อปี

 

1O.กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF)

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8,623 ล้านบาท

กองทุน LTF ยอดฮิตจาก บลจ. ยูโอบี ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนที่สูงด้วยเช่นกัน อีกทั้งสไตล์การบริหารพอร์ตการลงทุนที่เน้นแบบ Trading เปลี่ยนหุ้นในพอร์ตตามสถานการณ์ ถือว่าเป็นจุดเด่นของกองทุนอีกอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้กองทุนดังกล่าว เรียกเก็บค่าใช้จ่ายกองทุนในระดับต่ำที่ประมาณ 1.76% ต่อปี แต่เก็บค่าธรรมเนียมซื้อที่ 1% ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุน LTF กองอื่นที่ส่วนใหญ่ไม่เก็บ

 

ทั้งหมดนี้ก็คือสไตล์การลงทุน จุดเด่น จุดด้อยของแต่ละกองทุนที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

 

หมายเหตุ: ข้อมูลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนและมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

ที่มา: fund factsheet, เว็ปไซต์ของแต่ละกองทุน และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats