×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

หยุด 4 พฤติกรรม | หวังประหยัดเงินแบบผิดๆ

6,853

 

การเก็บเงินก้อนโต ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงกับทุกคน หากมีวินัยทางการเงินที่ดีพอ มีความอดทนสูง และรู้จักเพิ่มโอกาสทางการเงินให้ตัวเอง ด้วยการลงทุน

 

เพราะการเก็บออมแบบเดิมๆ คือ ได้มาแล้วเก็บอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะสะสมเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาได้

อีกทั้งยังต้องรู้จักทำรายรับ-รายจ่าย และรู้จักประหยัดอดออมตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งเสียบ้าง เพื่อจะเข้าสู่เป้าหมายที่หวังไว้ได้เร็วขึ้น

 

แต่! การประหยัดจะต้องอยู่บนพื้นฐานความพอดี และนี่คือ 4 พฤติกรรมที่ไม่ควรทำเมื่ออยากจะประหยัดเงินที่ทาง cheatsheet แบ่งปันไว้

 

1.ซื้อของเป็นแพ็ค | ซื้อเยอะไม่ได้แปลว่าถูกเสมอไป

โละความคิดที่ว่า ซื้อมากๆ แล้วจะต้องถูกว่าเสมอออกไปได้เลย ยิ่งถ้าอยู่คนเดียว หรือ มีสมาชิกในครอบครัวน้อยคนแล้วล่ะก็ การซื้อเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าด้วยปริมาณเยอะๆ ไม่ได้ช่วยประหยัดเงินในอนาคตได้เสมอไป

เพราะเมื่อลองหารราคาต่อหน่วยของสินค้าต่างๆ ดู จะพบได้ว่าราคาต่อน้ำหนักหรือต่อหน่วยของสินค้าซองใหญ่ แพ็คใหญ่นั้นไม่ได้ถูกกว่าเสมอไป ทางที่ดีซื้อแค่พอดี พอใช้ เพราะหลายครั้งที่เวลาซื้อของมาตุนเอาไว้ ก็ใช้ได้ไม่ครบทุกชิ้น

 

2.ไม่ออมเงินเพื่อเกษียณ | อย่าลืมว่า ออมก่อน รวยกว่า

การประหยัดด้วยคำว่า “เงินออมสำหรับเกษียณ…เอาไว้ก่อน เอาเงินไปใช้อย่างอื่นก่อน” ไม่ถือเป็นหนทางการออมเงินที่ดีเลย เพราะหลายคนไม่เคยกลับมาเก็บออมเงินไว้สำหรับเกษียณได้จริงๆ สักที

หลายคนบอกรอมีเงินเยอะ มั่นคงในอาชีพการงานมากกว่านี้ก่อนค่อยเก็บก็ยังทัน จนลืมไปว่ายิ่งอายุมากขึ้น เราก็ยิ่งต้องออมหนักขึ้นกว่าเดิม

 

ยกตัวอย่าง หากอยากมีเงินหนึ่งล้านบาทก่อนจะเกษียณต้องเก็บเงินอย่างไร?

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า หากเราลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5% ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 31 ปี จะออมเพียงเดือนละ 1,250 บาท (ปีละ 15,000 บาท) แต่ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 51 ปี ต้องออมถึงเดือนละ 6,300 บาท (ปีละ 75,000 บาท) เลยทีเดียว

 

3.ไม่สำรองเงินฉุกเฉิน | ประหยัดได้ แต่ต้องไม่ประมาท

คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ถ้าคิดจะประหยัดเงินโดยไม่ยอมแบ่งเงินเอาไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะเงินก้อนนี้ถือเป็นเงินที่มีความสำคัญมากที่สุด

ช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราย่อมมีโอกาสพบเจอเหตุไม่คาดฝันที่จะมากระทบกับการเงินของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

การที่มีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ (ขั้นต่ำ คือ ประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน) จะช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาแย่ๆ นั้นไปได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ จำเอาไว้ว่า “ประหยัดได้แต่ต้องไม่ประมาท” ด้วย

 

4.เลี่ยงการชำระบัตรเครดิต | เสียประวัติ เสียโอกาส

ถ้าชีพจรทางการเงินมีอาการเหมือนจะติดๆขัดๆ หรืออยากจะประหยัดด้วยวิธีคิดจะเบี้ยวหนี้บัตรเครดิตแล้วล่ะก็ หยุดพิจารณาผลกระทบหลักๆที่จะเกิดขึ้นตามมาสักนิด

ไม่ว่าจะเป็นการเสียประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโร ยิ่งหากค้างชำระเกิน 3 เดือนจนเป็นหนี้เสีย หรือ NPL สถานะหนี้เสียก็จะอยู่แบบนั้นอย่างต่ำก็ 3 ปี

อีกทั้งจะเสียโอกาสในการกู้เงินในอนาคต เพราะแบงก์จะไม่ให้กู้ หากมีชื่อติดเครดิตบูโร ทั้งที่จริงแล้วยอดหนี้บัตรเครดิตอาจไม่ได้สูงมากนัก แต่โอกาสในการกู้ เช่น กู้ซื้อบ้าน กู้เพื่อทำธุรกิจในอนาคต จะต้องสูญเสียไป

นี่ยังไม่นับรวมเรื่องอื่นๆอย่างเช่นการโดนทวงหนี้ การฟ้องศาล ที่จะสร้างความเครียดให้กับเราได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น การคิดประหยัดเงินด้วยการเบี้ยวหนี้บัตรเครดิต ถือว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย

หรือถ้าขัดสนขึ้นมาจริงๆ หนทางออกที่ควรทำที่สุดคือ ให้หยุดก่อหนี้เพิ่มและรีบเข้าสู่ขั้นตอนของการประนอมหนี้อย่างเร็วที่สุด

 

ท้ายที่สุด ใครอยากเก็บเงินได้มากขึ้นต้องอย่าลืม “จดบันทึกรายรับรายจ่าย” จดเพื่อให้รู้ และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก แค่นี้เราก็จะมีเงินเหลือไว้สะสมเป็นเงินก้อนโตได้อย่างแน่นอน

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats