×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 กองทุนที่ต้องมี! ถ้าไม่อยากพลาด “เทรนด์โลก”

24,299

 

โลกการลงทุนที่หมุนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้การเดินทางของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ไม่ว่านักลงทุนในต่างประเทศ หรือนักลงทุนในประเทศไทย กำลังสนใจอะไรอยู่ ในไม่ช้าข้อมูลเหล่านั้นก็จะเป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึง เราจึงเห็นบรรดาบลจ. (บริษัทจัดการลงทุน) ทยอยออกกองทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์การลงทุนของโลก

 

และนี่คือ 5 ประเภทกองทุนรวม ที่เกาะเทรนด์การลงทุนของโลกที่สำคัญ ถ้าหากคุณไม่อยากตกกระแส ก็อย่าลืมที่จะศึกษาค้นหาข้อมูลไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน

 

1.Index Fund และ ETFs

 

เริ่มกันที่กระแสการลงทุนในกองทุนที่มาแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และในยุโรปบางประเทศ นั่นคือ ความนิยมลงทุนในกองทุนที่มี “ค่าธรรมเนียมถูก” หรือกองทุนจำพวก Index Fund และ ETFs

 

โดยต้นทุนในการลงทุนที่ถูก ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น ประกอบกับกองทุนประเภท Index Fund และ ETF นี้มีดัชนีอ้างอิงที่ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงที่มาที่ไปของผลตอบแทนกองทุนได้ง่าย แต่ต้องยอมรับว่าในบ้านเราอาจไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่ถ้าใครสนใจก็ลองเริ่มต้นกันที่ 2 กองทุนนี้ดูก่อนก็ได้

 

1.1 กองทุนเปิด BCAP MSCI THAILAND ETF (BMSCITH)

 

กองทุนนี้เป็นของบลจ.บางกอกแคปปิตอล เน้นลงทุนเพื่อเกาะไปตามดัชนี MSCI Thailand ex Foreign Board Index ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่คนไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ PTT, CPALL, KBANK, SCB และ SCC และที่สำคัญกองทุนนี้มีค่าใช้จ่ายกองทุนรวมไม่เกิน 0.65% ต่อปี

 

1.2 กองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX)

 

กองทุนนี้เป็นของ บลจ. วรรณ เน้นลงทุนเพื่อเกาะไปตามดัชนี SET 50 ที่เราคุ้นเคยกันดี และหุ้นที่กองทุนลงทุนก็คือ หุ้นไทยในดัชนี SET 50 นั่นเอง และกองทุนนี้ค่าใช้จ่ายกองทุนรวมอยู่ประมาณ 0.55% ต่อปี

 

2.การลงทุนแบบ ESG

 

อีกหนึ่งเทรนด์การลงทุนที่กำลังมาแรงไม่แพ้กันก็คือ การลงทุนแบบ ESG หรือการลงทุนในบริษัทที่เน้นในเรื่องของ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance)

 

ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย ในยุโรปกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และในประเทศไทยก็มีกองทุนที่ลงทุนแบบ ESG นี้เปิดดำเนินการแล้วเช่นกัน คือ

 

2.1 กองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม (TISESG-S)

 

กองทุนนี้เป็นของ บลจ. ทิสโก้ มีนโยบายเน้นลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดย 5 อันดับหุ้นที่กองทุนลงทุนสูงสุดได้แก่ PTT, SCB, AOT, KKP และ SPALI แต่กองทุนนี้มีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 2.36% ต่อปี

 

2.2 กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

 

กองทุนนี้เป็นของ บลจ. บัวหลวง มีนโยบายเน้นลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG) และเพิ่มการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดย 5 อันดับหุ้นที่กองทุนลงทุนสูงสุดได้แก่ TU, EGCO, PTT, BBL และ INTUCH  โดยที่ค่าใช้จ่ายกองทุนอยู่ที่ 1.575% ต่อปี

 

3.กองทุนประเภท Income Fund

 

การลงทุนที่ออกมาเพื่อตอบโจทย์ต่อสถานการณ์การลงทุนในยุคปัจจุบันที่ตลาดการลงทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูง นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนจึงมองหาสินทรัพย์มีความมั่นคงสูง พร้อมทั้งยังสามารถที่จะสามารถสร้างรายได้ประจำให้กับพอร์ตการลงทุนไปด้วย ซึ่งกองทุนประเภท Income Fund อาจจะเป็นไปได้ทั้ง 2 ประเภทคือ

 

3.1 กองทุนตราสารหนี้

 

เช่น กองทุนเปิดทหารไทย Global Income (TMBGINCOME) ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุน Master Fund ของ PIMCO คือ กองทุน PIMCO GIS Income เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกทั้ง ภาครัฐและเอกชน ทั้งชนิดที่อยู่ในระดับ Investment Grade และส่วนที่เป็น High Yield โดยผลตอบแทนของกองทุนนี้นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) อยู่ที่ 3.94%

 

3.2 กองทุนผสม

 

เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัมพลัส (SCBGPLUS) มีนโยบายลงทุนในกองทุน Master Fund ที่ชื่อว่า Deutsche Invest I Multi Opportunities ของ Deutsche ซึ่งกองทุนดังกล่าวนี้ มีนโยบายกว่า 50% ลงทุนในกองทุนรวม และส่วนที่เหลือจะลงทุนตรงทั้ง หุ้น, ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์, หุ้นกู้แปลงสภาพ, ตราสารตลาดเงิน เป็นต้น โดยผลตอบแทนของกองทุนนี้นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) อยู่ที่ -0.91%

 

4.กองทุนประเภท Target Date Fund

 

กำลังเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (401k) นิยมลงทุนกันเป็นอย่างมากก็เพราะว่าเป็นกองทุนที่มีการปรับน้ำหนักการลงทุน (Asset Allocation) แบบอัตโนมัติตามแต่ละช่วงเวลาให้เหมาะสมเป้าหมายปีที่เกษียณของนักลงทุน ทำให้คลายความกังวลเรื่องการปรับน้ำหนักการลงทุนด้วยตัวเอง

 

กองทุนประเภทนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักในบ้านเรา แต่เท่าที่เห็นมีหนึ่ง บลจ. ที่ทำกองทุนลักษณะนี้อย่างจริงจังเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั่นก็คือ บลจ. CIMB-Principal

 

5.กองทุนประเภท Quant Model

 

กองทุนที่บริหารโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการคัดเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน รวมไปถึงการกำหนดจังหวะในการซื้อขายหลักทรัพย์แบบอัตโนมัติตามแบบที่ผู้จัดการกองทุนได้กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่กองทุนประเภทนี้จะเป็นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยปัจจุบันกองทุนไทยที่ได้มีการนำวิธีดังกล่าวมาใช้ที่เห็นเด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็น

 

กองทุนเปิดเค มินิมั่ม โวลาติลิตี้ หุ้นทุน (K-MVEQ)

 

กองทุนนี้เป็นของ บลจ. กสิกรไทย ที่ใช้การวิเคราะห์แบบ Quantitative (Quantitative analysis) โดยใช้โปรแกรมที่พัฒนาเองเพื่อคัดเลือกหุ้น กำหนดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความผันผวนของผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยที่มี universe ในการลงทุนอ้างอิงจากดัชนี SET 100 เป็นหลัก ซึ่ง 5 หลักทรัพย์ที่มีการลงทุนสูงสุดได้แก่ EGCO, TU, TTW, SCC และ CPALL กองทุนนี้มีค่าใช้จ่ายรวมเพียง 1.1717% ต่อปี

 

หมายเหตุ: ข้อมูลการลงทุนอ้างอิงมาจาก fund factsheet ของกองทุน

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats