×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ซื้อ “กองทุนรวม” แบบนี้ไม่เสียใจ

12,097

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

คุณเป็นคนหนึ่งรึเปล่าที่คิดว่า…

 

“ถ้าลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” แล้ว…ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก” เพราะ “กองทุนรวม” มีผู้จัดการกองทุน (หลายคน) คอยดูแลเงินแทนเรา ก็แค่เลือกกองทุนที่ใช่แล้วก็ลงทุนไปเลย ที่เหลือให้ผู้จัดการกองทุนคิดแทน”

 

ถ้าคิดแบบนี้…Wealth Me Up อยากให้คุณคิดใหม่ เพราะอย่าลืมว่าถ้า “การลงทุน มีความเสี่ยง” การลงทุนใน “กองทุนรวม” ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

 

ก่อนลงทุน “กองทุนรวม” สักกอง จึงต้องเลือกให้ดี เหมือนกับตอนที่ซื้อรถยนต์สักคัน ที่ต้องเลือกทั้งยี่ห้อ รุ่น สี และระดับราคา พูดง่ายๆ ก็คือเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ แทบจะไม่แตกต่างกัน นั่นคือ…

 

1.“มีเป้าหมาย”

 สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนลงทุนใน “กองทุนรวม” ก็คือ คุณต้องการอะไร? (และต้องรู้ด้วยว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน) เช่น

  • ต้องการเก็บเงินระยะสั้น (รับความเสี่ยงได้ต่ำ) ก็ต้องเลือก “กองทุนรวมตราสารหนี้”
  • ต้องการกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ก็ต้องเลือก “กองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผล”
  • ต้องการลงทุนหลากหลาย (รับความเสี่ยงได้ปานกลาง) ก็ต้องเลือก “กองทุนรวมผสม”
  • ต้องการใช้สิทธิ์ลดภาษี ก็ต้องเลือก “กองทุนรวม LTF หรือ RMF”
  • ต้องการลงทุนระยะยาว เพื่อเพิ่มมูลค่าพอร์ต (รับความเสี่ยงได้สูง) ก็ต้องเลือก “กองทุนรวมหุ้น”
  • ต้องการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ ก็ต้องเลือก “กองทุนรวมต่างประเทศ” เป็นต้น

 

2.เข้าใจ “สิ่งที่ลงทุน”

ก่อนตัดสินใจลงทุน “กองทุนรวม” สักกองควรทำความเข้าใจสิ่งที่ลงทุน ด้วยการอ่านนโยบายการลงทุนก่อน

 

ถ้าเป็น “กองทุนรวมหุ้น” ต้องดูว่ามีนโยบายลงทุนหุ้นประเภทไหน เช่น หุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หุ้นที่จ่ายปันผล หุ้นเติบโต หรือลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

 

หากเป็น “กองทุนรวมตราสารหนี้” ก็ต้องดูว่าไปลงทุนตราสารหนี้ประเภทไหนบ้าง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือไปลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าตราสารหนี้นั้นๆ มีอันดับเครดิตระดับไหน

 

ที่ให้ดูแบบนี้ เพราะจะได้รู้ว่า “กองทุนรวม” ไหนเหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง ไม่ใช่ชอบหุ้นเติบโต แต่ไปลงทุน “กองทุนรวม” ที่เน้นลงทุนหุ้นปันผลหรือหุ้นคุณค่า หรือชอบซื้อหุ้นกู้ แต่กลับไปลงทุน “กองทุนรวม” ที่เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล และการลงทุนที่แตกต่างกัน ย่อมให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงต่างกันด้วย

 

3.เข้าใจ “ผลตอบแทน”

ผลตอบแทนของ “กองทุนรวม” สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ “Total Return” กับ “Price Return”

 

“Total Return” เป็นผลตอบแทนที่ได้รวมเงินปันผลเข้ามาแล้ว โดยส่วนใหญ่นักลงทุนควรดูผลตอบแทนนี้เป็นหลัก เพราะ “กองทุนรวม” บางกองจ่ายเงินปันผล บางกองก็ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ส่วน “Price Return” เป็นผลตอบแทนของ “กองทุนรวม” ที่ไม่ได้รวมการจ่ายเงินปันผลเข้ามา ดังนั้น ผลตอบแทน “Total Return” ก็จะสูงกว่า “Price Return”

 

ส่วนการคำนวณผลตอบแทนของ “กองทุนรวม” ก็มีทั้ง “แบบเฉลี่ยต่อปี” (Annualized Return) นั่นคือการนำผลตอบแทนแต่ละปีมาบวกกันแล้วหารจำนวนปีที่ต้องการดูค่าเฉลี่ย (เช่น นำผลตอบแทนปี 2555 ถึง 2559 มาบวกกัน แล้วหาร 5 ก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ย้อนหลัง 5 ปี) และ “แบบสะสม” (Cumulative Return) ที่นำผลตอบแทนปีแรกกับปีล่าสุดที่ต้องการคำนวณมาพิจารณา (เช่น NAV ปี 2555 อยู่ที่ 10 บาท ส่วนปี 2559 อยู่ที่ 20 ปี แสดงว่ามีผลตอบแทนสะสม 100% ในรอบ 5 ปี)

 

4.ดู “ผู้จัดการกองทุน”

นักลงทุนไทย ค่อนข้างละเลยการดูว่า “กองทุนรวม” ที่จะลงทุนนั้น ทีมผู้จัดการกองทุนที่จะดูแลเงินของเราเป็นใครบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้จัดการกองทุนสามารถชี้เป็นชี้ตายกองทุนที่พวกเขาดูแลได้เลย ดังนั้น จากนี้ไปก่อนลงทุน อยากให้มิตรรักการเงินดูประวัติ ประสบการณ์ ชื่อเสี่ยงที่สั่งสมมาของ ผู้จัดการกองทุนแต่ละคนด้วยว่ามีความเชี่ยวชาญด้านใด เพราะบางคนอาจเก่งตลาดหุ้น บ้างเก่งตลาดตราสารหนี้ หรือเก่งการลงทุนต่างประเทศ

 

5.ค่าใช้จ่าย

นักลงทุนหลายคนไม่รู้ว่า “กองทุนรวม” แต่ละกองเก็บค่าธรรมเนียมกับเราเท่าไหร่!

แท้จริงแล้วค่าใช้จ่ายของ “กองทุนรวม” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่นักลงทุนจ่ายให้กับ บลจ. เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-End Fee) และค่าธรรมเนียมการขาย (Back-End Fee)
  2. ส่วนที่นักลงทุนต้องจ่ายให้กับ “กองทุนรวม” โดยจะหักออกจาก NAV ของกองทุนนั้นๆ เรียกว่า Total Expense Ratio เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าสอบบัญชี ค่าประกาศหนังสือพิมพ์มูลค่าหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะประกาศผ่านหนังสือรายงานประจำปี

 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าการลงทุน “กองทุนรวม” ก็มีเรื่องให้คิดก่อนตัดสินใจลงทุนเยอะ ไม่ต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ…รู้แบบนี้แล้ว ก่อนซื้อ “กองทุนรวม” กองถัดไป อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะถึงแม้จะมีคนที่ชำนาญคอยดูแลเงินของเรา แต่ถ้าหากผิดพลาดขึ้นมา ผู้ที่เสียหาก็ไม่ใช่ใครนอกจาก…ตัวเรา

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats