นักลงทุนมอง “หุ้นกลุ่มแบงก์” น่าสนใจที่สุด
ดร. สันติ กีระนันทน์ ผู้แทน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมิถุนายน 2560
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในภาวะ “ทรงตัว”
จากภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ และคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขณะที่นักลงทุนจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของเงินทุนจากต่างประเทศ ด้านตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯเคลื่อนไหวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดเหล็ก (STEEL) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
- ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2560) อยู่ที่ 101.66 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0 – 200) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.76% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 100.89
- ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยกลุ่มสถาบันในประเทศและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลง โดยทั้ง 3 กลุ่มยังคงอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศ ดัชนีฯปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของสหรัฐ
“ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก เคลื่อนไหวอยู่ในภาวะสมดุลมากขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้รับผลดีจากอุปสงค์ภายในประเทศและอัตราการว่างงานกลับมาอยู่ในระดับปกติ แม้ว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐในบางส่วนยังไม่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรส อาทิ นโยบายการลดภาษี และนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปคลายความวิตกกังวลภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับข่าวดีจากการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคจนถึงเดือนมีนาคม 2561 แม้ว่าจะไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ที่ได้ประชุมไปเมื่อ 2 วันก่อนก็ออกมาตามคาดคือเพิ่มขึ้นไป 0.25% สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และนโยบายการลงทุนของภาครัฐและนโยบายสนับสนุนการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญ”
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก โดย GDP ไทยในไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว เพราะได้รับผลบวกจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นเป็น 2.6% ในไตรมาสแรกปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน และการบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มดีขึ้นจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทน เพราะการหมดภาระจากการผ่อนหนี้รถคันแรกของภาคครัวเรือนบางส่วน ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็มีสัญญาณบวกแล้วด้วยการฟื้นตัวจากมาตรการขจัดทัวร์ศูนย์เหรียญในปีก่อน
“อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อจึงน่าจะขยายตัว 1.0% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าระดับ 0.2% ในปีก่อน และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ไปได้ ตลอดปีโดยไม่ต้องไปลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และด้วยปัจจัยหลักๆ ดังกล่าว เราจึงมองว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ไทยที่ 3.3% ในปีนี้จะเป็นไปได้ไม่ยาก” นางวรวรรณ กล่าว
ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า “ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวชะลอลง 6.2% ในปี 2560 และร้อยละ 6.1 ในปี 2561 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ถึงแม้จะมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวที่ดีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลกในเดือนมิถุนายน 2560 พบว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2560 และร้อยละ 3.3 ในปีหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคภาคเอกชนที่ค่อยๆ ฟื้นตัว”
กด Subscribe รอเลย…