×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

พยายามไม่มากพอ…ก็ไม่ต่างอะไรกับ “น้ำร้อนที่ไม่ถึงจุดเดือด

8,334

 

“เราถูกปลูกฝังให้เรียนให้สูง และเรียนให้เก่งมากกว่าการค้นหาลักษณะเฉพาะ และความถนัดของตัวเราเอง” 

นี่คือคำพูดของ สุรชัย พุฒิกุลางกูร อิลัสเตรเตอร์โฆษณา อันดับ 1 ของโลก ครั้งที่พูดไว้ในงาน “มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21” โดย OKMD

 

คุณคิดว่าจริงมั้ย? ลองไปอ่านนิทานเรื่องนี้ดู…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในหมู่บ้านที่มีการจัดการแข่งขันเพื่อหาผู้ที่สามารถเดินทางได้ระยะทางไกลที่สุด

 

คนกลุ่มแรก : เมื่อได้ยินข่าวการแข่งขัน “รีบออกเดินทางด้วยเท้า” โดยทันที 

เพราะมีความเชื่อว่า ถ้ายิ่งออกตัวเร็ว ก็จะยิ่งพบความสำเร็จได้ก่อน…แต่แล้วเมื่อไปถึงหลักกิโลที่หนึ่ง เขาหยุด! เพราะคิดว่าประสบความสำเร็จในการแข่งขันแล้ว ไม่ต่างกับการสอบได้ที่หนึ่งในช่วงการเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย ที่เป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ของชีวิตที่ต้องเดินทางอีกยาวไกลเท่านั้น

คนกลุ่มที่สอง : เชื่อว่า “การใช้เครื่องทุนแรง” จะทำให้ไปได้ไกลกว่า 

คนกลุ่มนี้…ใช้ม้าลากเกวียนเป็นเครื่องทุนแรง ไม่ต่างกับคนที่เกิดมาในครอบครัวมีฐานะดี ส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ และเมื่อถึงจุดหนึ่งของช่วงชีวิต คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยก็มัก “ไปได้ไกลกว่า”

คนกลุ่มที่สาม : เชื่อว่าเขาสามารถ “สร้างพาหนะ” ที่ทำให้เดินทางไปได้ไกลกว่าเกวียน 

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเวลาในการสร้างที่นานขึ้น เพื่อวันหนึ่งจะออกเดินทางพร้อมความคิด และความเชื่อแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เรา อาจจะไม่ต้องรีบกับการใช้ชีวิตมากนัก…และว่าที่อิลัสเตรเตอร์โฆษณา อันดับ 1 ของโลกในวันนั้น ก็เลือกเป็นคนกลุ่มนี้

 

เขาตัดสินใจไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นในปี 2531 เพื่อเปิดมิติที่ลึกขึ้นในงานศิลปะของตน รวมทั้งยังชื่นชอบในวิถีเซนอีกด้วย…ที่น่าสนใจคือบัณฑิตจิตรกรรม จากม.เชียงใหม่ คนนี้ไม่เลือกเรียนต่อระดับปริญญาโท แต่เลือกเรียนอาชีวะในสาขา Communication Design ด้วยเหตุผลที่ว่า “จะได้ฝึกปฎิบัติทุกวัน”

 

“ผมเลิกเชื่อว่าต้องเรียนให้สูงถึงจะประสบความสำเร็จ เรียนให้ถูกต้องต่างหากที่จะประสบความสำเร็จ” 

 

บางครั้ง…ความฝันอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น เฉกเช่นเขาคนนี้ ที่เดิมใฝ่ฝันว่าจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ กระทั่งได้พบกับ คัตซุมิ อะซะบะ กราฟิกดีไซเนอร์ที่ตนชื่นชอบ ในช่วงเวลาที่กำลังหางานในญี่ปุ่น

 

“เขาถามผมว่า ทำไมผมไม่เป็นอิลลัสเตรเตอร์ จะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ทำไม ผมก็งงว่าจะมาลดชั้นผมทำไม เขาอธิบายว่า งานส่วนใหญ่ของผมเป็นงานเพนต์ ผมเป็นอิลลัสเตรเตอร์ในญี่ปุ่นได้ทันที แต่ถ้าจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ต้องเรียนรู้ใหม่ และสิ่งที่สำคัญ ถ้าผมจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ผมต้องทำงานกับลูกค้า นักการตลาด ซึ่งพูดคนละภาษากับผม แต่ถ้าผมเป็นอิลลัสเตรเตอร์ ผมจะได้ทำงานกับอาร์ตไดเรกเตอร์ซึ่งพูดภาษาเดียวกับผม นั่นคือ ภาษาศิลปะ”

 

นับจากวันนั้น…เขาใช้เวลาฝึกฝน สั่งสมชั่วโมงการทำงาน ตามหาความรู้แบบสากล ลงรายละเอียดของผลงานในทุกระเบียบนิ้ว กระทั่งเด็กอาชีวะคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นอิลัสเตรเตอร์โฆษณา อันดับ 1 ของโลก และนี่คือบทสรุปที่เข้ากลั่นกรองออกมา

 

“ทฤษฎี แรงจูงใจ 4 ระดับ”

ที่แบ่งคนเตะฟุตบอลเป็น 4 ประเภท

1. “เล่นกีฬา” | เพื่อนชวนไปเล่น ว่างก็ไป ไม่ว่างก็เอาไว้ก่อน
2. “ออกกำลังกาย” | เป็นระดับที่เราเริ่มกำหนดระยะเวลา หรือลงนัดอย่างประจำ
3. “นักกีฬาสมัครเล่น” | เริ่มฟอร์มทีม ทำเสื้อทีม นัดซ้อม และวางแผนใช้กลยุทธ์ในการแข่งขัน
4. “นักกีฬาอาชีพ” | ที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้จากการเตะฟุตบอล

 

สิ่งที่ทุกคนมี “เหมือนกัน” คือ ชอบทำสิ่งนั้น (เตะบอล)
แต่ “ความแตกต่าง” ของคน 4 ประเภทนี้ คือ เวลาและวินัย ที่มีให้กับมัน

เขาปิดท้ายในการสัมมนาว่า

“ถ้าเราใส่ความพยายามไม่มากพอ ก็ไม่ต่างอะไรจากน้ำร้อนที่ไม่ถึงจุดเดือด คุณไม่สามารถเปลี่ยนสถานะของคุณได้” 

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats