×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

คนไทยมี “ความสุข” ในการทำงานแค่ไหน

8,236

 

ความสุขในการทำงานของพนักงาน ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ มีผลสำรวจที่พบว่าพนักงานส่วนมากเชื่อมั่นว่า ชีวิตการทำงานต้องดีกว่าเดิม หากไม่เป็นอย่างที่คิด ทางเลือกก็คือ “เปลี่ยนงานใหม่” โดยเฉพาะเมื่อไม่มีความสุขกับการทำงาน

 

ผลสำรวจจาก JobsDB เกี่ยวกับดัชนีความสุขของพนักงาน ประจำปี 2016 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าการสร้างความสุขในที่ทำงานคือส่วนสำคัญ เพราะถ้าไม่มีความสุขคนไทยพร้อมจะ “ลาออก” เพื่อหาโอกาสใหม่ ในขณะที่ความสุขในการทำงานของคนไทยเป็นอันดับ 3 จาก 7 ประเทศในแถบเอเชีย

 

JobsDB ระบุว่า จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,957 คน มีคะแนนความสุขเฉลี่ย 5.74 จากคะแนนเต็ม 11 ทำให้ไทยเป็นอันดับ 3 จาก 7 ประเทศในแถบเอเชีย ที่คนทำงานมีความสุขกับงานที่ทำ รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังสอบถามถึงมุมมองของผู้ตอบแบบสอบ ที่มีต่อความสุขในการทำงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่ระดับ 5.66 ถือว่าใกล้เคียงกับปัจจุบัน

 

 

สำหรับประเทศไทย พบว่าทุกๆ 100 คน จะมี 61 คนที่มีทัศนคติด้านบวกกับงาน พนักงานที่มีความพึงพอใจต่องานมากที่สุด คือกลุ่มที่ทำงานปัจจุบันมาประมาณ 3-5 ปี ในทางตรงกันข้ามพนักงานที่ให้คะแนนความสุขต่ำที่สุดเป็นพนักงานที่เพิ่งเริ่มงาน (ส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรมาน้อยกว่า 1 ปี)

 

 

และจากการสำรวจพบว่ามี 4 ปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในที่ทำงาน โดยคนไทยให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวก และทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ของประเทศและลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมของคนไทย

 

ปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขถึงขั้นลาออก คือ การมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุข แต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะอยู่ด้วยความภักดีต่อองค์กรหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

 

34% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน อีก 19% เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ 8% บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง

 

รู้อย่างนี้แล้วนายจ้างหรือองค์กร ก็ต้องพยายามสร้างความสุขที่พนักงานต้องการ เพื่อรักษาบุคคลากรคุณภาพให้อยู่กับองค์กรนานที่สุดรวมถึงดึงดูดพนักงานใหม่ ส่วนพนักงาน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะวัดระดับความสุขของตัวเอง รวมถึงการมองหางานใหม่หากองค์กรไม่สามารถตอบความต้องการได้ เพื่อให้ตรงกับแนวคิด “งานที่ดีกว่าคืองานที่มีความสุข” นั่นเอง

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats