เมาแล้วขับ ประกันจ่ายมั้ย?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
วันก่อนได้ฟังข่าวหนุ่มเมาซิ่งเก๋งชนร้านเฟอร์นิเจอร์ เป็นเหตุให้ร้านเฟอร์นิเจอร์นั้นเกิดไฟไหม้ มูลค่าความเสียหายของตัวอาคาร 40 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินในร้าน 40 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 80 ล้านบาท
เมื่อฟังตัวเลข ความเสียหายแล้ว เกิดคำถามขึ้นมาทันที คือ รถคันนี้มีประกันหรือไม่ ถ้ามีประกันแบบไหน และประกันคุ้มครองหรือไม่ ถ้าประกันคุ้มครองจะคุ้มครองความเสียหายทั้งหมดหรือไม่?
ซึ่งในกรณีรถยนต์มีประกัน ความคุ้มครองก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของประกันแต่ละประเภท ตามตาราง
จากตาราง จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ประเภทไหนก็คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย และรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นกรณีนี้ ถ้ารถเก๋งคันนี้มีประกัน ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองจากประกัน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประกันจะคุ้มครองทุกกรณี มีข้อยกเว้นที่ประกันภัยจะไม่คุ้มครองอันเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การใช้รถยนต์นอกอาณาเขตคุ้มครอง เช่น การนำรถไปใช้ในต่างประเทศและเกิดอุบัติเหตุประกันภัยจะไม่คุ้มครอง
- การใช้รถยนต์ในทางผิดกฎหมาย เช่น การใช้รถยนต์ที่เอาประกันภัยไปปล้น ขนยาเสพติด เป็นต้น
- การใช้ในการแข่งขันความเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง
- การใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทด้วยหรือเป็นรถลากจูงโดยสภาพ
- ความรับผิดซึ่งเกิดจากสัญญาที่ผู้ขับขี่ทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญานั้นแล้วความรับผิดของผู้ขับขี่จะไม่เกิดขึ้น
- ขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดกฎหมายจราจรที่ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่มีเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา)
จากการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ศึกษาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ภายหลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จุดประสงค์เพื่อต้องการทราบว่าผู้ขับขี่สามารถดื่มสุราในปริมาณเท่าใดจึงขับขี่ได้
ผลการวิจัย พบว่า ภายหลังดื่มเบียร์ 8 ดีกรี ปริมาณ 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) ไวน์ไทย หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5 ดีกรี ปริมาณ 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าดื่มเบียร์ 8 ดีกรี ปริมาณ 2 ขวด (1,260 มิลลิลิตร) ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และหลังดื่ม 2 ชั่วโมง ก็ยังมีระดับแอลกอฮอล์มากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่าหากไม่ต้องการมีปัญหา ก็ไม่ควรดื่มเบียร์เกิน 1 กระป๋องถ้าคิดจะขับขี่รถยนต์
กรณีนี้จึงต้องตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของหนุ่มขับเก๋งคนนั้นว่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือไม่ หากเกินประกันก็จะไม่คุ้มครอง
ถ้าหากรถคันไหนที่เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ถ้ารถคันนั้นมีประกันภัยภาคสมัครใจ จะไม่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น แต่คู่กรณีสบายใจได้ เพราะสำหรับคู่กรณี ยังได้รับการคุ้มครองตามปกติ แล้วทางบริษัทประกันภัยจะไปเรียกคืนจากผู้ที่เป็นเจ้าของกรมธรรม์เอง
ส่วนประกันจะชดใช้ความเสียหายทั้งหมด 80 ล้านบาทหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมูลค่าความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันซื้อ ซึ่งแน่ใจได้เลยว่าไม่ถึง 80 ล้านบาทแน่ๆ ดังนั้นบริษัทประกันจะจ่ายให้คู่กรณีไม่เกินมูลค่าความคุ้มครองที่รับประกันไว้ ที่เหลือคู่กรณีต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดเอาเอง