ใครคือ ผู้จัดการกองทุน?
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเราเติบโตมาสูงกว่า 100%
จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ณ เดือน พ.ค. 2555 มาเป็น 4.8 ล้านล้านบาท ณ เดือน พ.ค. 2560 พัฒนาการต่างๆ ทั้งในเชิงของผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน การเปิดเผยข้อมูลที่มีมาตราฐานสูงมากขึ้น กฎเกณฑ์ทางการลงทุนต่างๆ ก็ต่างพัฒนาขึ้นไปในทางที่ดี
แต่ก็ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากต่อการลงทุนซึ่งอาจจะยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนักจากทางฝั่งของ บลจ. นั้นก็คือ “การเปิดตัวผู้จัดการกองทุน”
ใครคือ “ผู้จัดการกองทุน” หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า “Fund Manager” ในภาษาอังกฤษ?
มีนักลงทุนกี่คนรู้บ้างว่ากองทุนรวมที่เรานำเงินไปลงทุนอยู่นั้น มีใครผู้จัดการกองทุน ดูแลเงินลงทุนของเราอยู่? เชื่อว่านักลงทุนไทยทั่วไปไม่เกิน 10% ที่ทราบชื่อของผู้จัดการกองทุน
ปัจจุบันนี้ในอุตสาหกรรมการลงทุนในประเทศไทยมี “ผู้จัดการกองทุนรวม” ที่ได้รับใบอนุญาตจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ทั้งสิ้น 494 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ที่ปฎิบัติหน้าที่บริหารเงินลงทุนอยู่ทั้งสิ้น 330 ราย (ที่มา: ก.ล.ต.) และมีผู้จัดการกองทุน 285 รายที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม ส่วนที่เหลือก็กระจัดกระจายอยู่ในธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์หรือบริหารกองทุนส่วนบุคคล
ทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเรากว่า 4.8 ล้านล้านบาทนี้ถูกบริหารโดย ผู้จัดการกองทุนเพียง 285 คนเท่านั้น เฉลี่ยแล้ว 1 คนบริหารเงินกว่า 16,901 ล้านบาท
ซึ่ง 5 บลจ.ที่มีจำนวนผู้จัดการกองทุนมากที่สุดคือ
แล้วทำไมเราถึงต้องมาให้ความสำคัญกันในเรื่องของผู้จัดการกองทุน?
คำตอบคือ…แล้วทำไมเราถึงต้องไม่สนใจเรื่องนี้?
เพราะเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของการนำเงินมาลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” ก็คือ เราเชื่อมั่นว่ากองทุนรวมมีผู้จัดการกองทุนบริหารการลงทุนที่มีความรู้ความสามารถทางการลงทุนที่มากกว่าตัวเรา ทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง อีกทั้งเรา (นักลงทุน) ยังเป็นผู้จ่ายเงินจ้างให้ผู้จัดการกองทุน (ผ่านค่าบริหารจัดการ หรือ management fee) ดังนั้นจึงเป็นสิทธิของนักลงทุนที่จะทราบถึงข้อมูลในส่วนนี้
และถ้าหากมอง “กองทุนรวม” กองหนึ่งเป็นเสมือนบริษัทที่ทำธุรกิจ ตำแหน่งของ “ผู้จัดการกองทุน” ก็คงเปรียบได้กับ CEO ของบริษัท ซึ่งธุรกิจหรือผลประกอบของกองทุนหรือบริษัทนั้น จะออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารงานของผู้จัดการกองทุนหรือ CEO นั่นเอง
แล้วข้อมูล “ชื่อผู้จัดการกองทุน” เราจะสามารถไปค้นหาเอาได้จากที่ไหน?
ถ้าไปถามที่ บลจ. หรือ ก.ล.ต. ก็ต้องได้รับคำตอบว่า ข้อมูลเหล่านั้น (ชื่อผู้จัดการกองทุน) มีเปิดเผยอยู่ในเอกสารประกอบการขายกองทุนทั้งใน Fund Factsheet และหนังสือชี้ชวน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่าย
แต่สิ่งที่อตุสาหกรรมยังคงขาดก็คือ การสื่อสารแบบที่เป็นการพูดคุยกันแบบตรงๆ จากทาง “ผู้จัดการกองทุน” (คนที่บริหารกองทุนตัวจริง) เพราะโดยปกติแล้วคนที่เป็นตัวแทนในการสื่อสาร ให้ข่าวแก่สื่อมวลชน ขึ้นเวทีสัมมนาเรื่องการลงทุนของแต่ละ บลจ. ส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริหารระดับสูงระดับ CEO หรือ CIO ของ บลจ. ซึ่งในบางกรณีก็อาจจะไม่ใช่คนที่นำเงินไปลงทุนจริงๆ ก็เป็นได้
ดังนั้นช่องทางที่นักลงทุนรายย่อยตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ จะสามารถทำการสื่อสารกับ “ผู้จัดการกองทุน” ได้นั้นคงมีไม่มาก ซึ่งหากมองในฐานะนักลงทุนก็อาจจะเรียกได้ว่า “ไม่แฟร์”
เพราะขนาดบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้เกิดการพบปะกันระหว่าง “ผู้บริหาร” กับ “ผู้ถือหุ้น”
แล้วทำไมนักลงทุนในกองทุนรวมถึงไม่มีสิทธิตรงนี้?
หรือถ้าทาง บลจ. ต่างๆ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ออกมาประกาศจัดสัมมนาแนวที่ให้ผู้จัดการกองทุน (ตัวจริง) พบปะกับนักลงทุนใน “กองทุนรวม” แบบเป็นประจำก็คงจะดีไม่น้อย
โดยในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ผู้จัดการกองทุน” อย่างมาก ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกลงทุนใน “กองทุนรวม” ซึ่งนักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบันและรายย่อยต่างติดตามข่าวสาร ฟังคำให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงขั้นย้ายเงินลงทุนตาม Fund Manager ที่ชื่นชอบกันเลยทีเดียว!
WealthMeUp คงทำได้เพียงชี้ประเด็นที่นักลงทุนอาจมองข้ามไป…แต่เรื่องเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากนักลงทุนเอง ไม่มีความตื่นตัว กระหายที่อยากจะรับรู้ เรียกร้องและปกป้องสิทธิของตน!
กด Subscribe รอเลย…