กองทุน Growth Stock มาแรง
หลายๆปีที่ผ่านมานี้นักลงทุนคงคุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นที่เรียกว่า “หุ้นคุณค่า” หรือ “Value Stock” กันพอสมควรซึ่งลักษณะของหุ้นคุณค่าโดยทั่วไปมักจะเป็นหุ้นที่มีอัตรากำไรหรืออัตราการจ่ายเงินปันผลสูง มีมูลค่า P/E ต่ำกว่าตลาด หรือหมวดอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นต้น แต่ช่วงหลังมานี้หุ้นอีกลุ่มหนึ่งที่กำลังมาแรงก็คือ หุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า Growth Stock หรือ หุ้นที่เติบโตสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตในแง่ของยอดขายและกำไรที่สูงกว่าตลาดหรือหมวดอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการเติบโตของหุ้น Value และ Growth ช่วง 5 ปี ย้อนหลัง โดยวัดจาก iShares Russell 2000 Value (IWN,สีฟ้า) กับ iShares Russell 2000 Growth (IWO,สีเขียว)
ที่มา: Yahoo Finance
ทำไม Growth Stock ทำไมถึงโดดเด่นและมาแรงในช่วงที่ผ่านมานี้?
ก็เพราะโลกธุรกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นเสมอ และบริษัทที่จะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ได้ดี ก็คือ บริษัทที่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ มีการออกสินค้าและบริการมารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดของ Growth Stock นั่นเอง
แต่ข้อเสียของการลงทุนในบริษัทเหล่านี้นั้นก็คือ มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากอัตราการเติบโตนั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตของยอดขายและกำไรที่มาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่ตลอดเวลาซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับการตอบรับจากตลาดในช่วงเวลานั้น
“แต่ที่ต้องเน้นย้ำอีกอย่างก็คือ หุ้น Growth Stock นั้นไม่จำเป็นต้องเป็น Tech company เท่านั้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทที่ทำธุรกิจทางการเงิน บริษัทผลิตยา ต่างๆเหล่านี้ก็สามารถเป็น Growth Stock ได้เช่นเดียวกัน”
และด้วยกระแสความแรงของหุ้นในกลุ่ม Growth Stock ทั่วโลกดังกล่าวนี้ ส่งผลให้กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Growth Stock ต่างพากันทำผลตอบแทนได้ดีไปตามๆ กันจนได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่กองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพราะหากเราดูจากข้อมูล 20 อันดับกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดจากในปีนี้ จะเห็นได้ว่าหลายๆ กองทุน มีสไตล์การลงทุนที่เน้นลงทุนใน Growth Stock ตัวอย่างเช่น
กองทุนเปิดเคแทม อินเดีย อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า
ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 21.91% (ณ วันที่ 22 พ.ค. 60)
- ลงทุนในกองทุน Master Fund ที่ชื่อว่า Invesco India Equity ของ บลจ. Invesco
- เน้นลงทุนหุ้นอินเดียในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งแบบที่ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ (Consumer Cyclical) และแบบที่ผันผวนต่ำ (Defensive)
- ค่าธรรมเนียมซื้อ = 5%
- ค่าธรรมเนียมขาย = ไม่มี
- ค่าใช้จ่ายทั้งหมด = 0.99%
กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ
ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 19.94% (ณ วันที่ 23 พ.ค. 60)
- ลงทุนในกองทุน Master Fund ที่ชื่อว่า Baillie Gifford Long Term Global Growth
- เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยเน้นไปยังบริษัทในกลุ่มกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งแบบที่ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ (Consumer Cyclical) กลุ่ม Technology และกลุ่ม Healthcare เป็นหลัก
- ค่าธรรมเนียมซื้อ = 1%
- ค่าธรรมเนียมขาย = ไม่มี
- ค่าใช้จ่ายทั้งหมด = 1.43%
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลดิจิตอล
ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 18.60% (ณ วันที่ 24 พ.ค. 60)
- ลงทุนในกองทุน Master Fund ที่ชื่อว่า Pictet Digital Communication
- เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ใช้ Digital Technology มาให้บริการหรือผลิตสินค้าในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ดังนั้นการลงทุนหลักก็จะอยู่ในกลุ่ม Technology และกลุ่มธุรกิจสื่อสาร (Communication Service) เป็นหลัก
- ค่าธรรมเนียมซื้อ = 5%
- ค่าธรรมเนียมขาย = ไม่มี
- ค่าใช้จ่ายทั้งหมด = 1.595%
แต่ก็มีข้อสังเกตสำหรับการลงทุนในกองทุนกลุ่ม Growth Stock เช่นกัน นั่นคือ
- ความผันผวนใน Trend ของสินค้าและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของ “ราคาหุ้น” และ “ผลตอบแทน” ของกองทุนในที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้นในกลุ่มนี้จะมีความผันผวนมากกว่ากลุ่มหุ้นคุณค่า (Value Stock)
- ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่มีการลงทุนใน Growth Stock จะเป็นกองทุนหุ้นในต่างประเทศ
- หลายกองทุนอาจจะมีการลงทุนในหุ้นหรือบริษัทเดียวกัน อาทิเช่น Facebook, Tesla, Amazon, Tencent, Google เป็นต้น
ที่มาของผลตอบแทนกองทุน: www.morningstarthailand.com
กด Subscribe รอเลย…