การเงินต้องรู้ของคนเริ่มทำงาน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หางานว่ายากแล้ว แต่การจัดการเงินช่วงทำงานใหม่ๆ อาจยากกว่า เพราะนอกจากประสบการณ์ด้านการเงินที่น้อยแล้ว ยังมีสิ่งเร้าอีกมากมายที่เป็นบ่อเกิดของความล้มเหลวทางการเงิน
ไม่อยากเดินผิดทาง มาดู 5 เรื่องการเงิน ที่คนเพิ่งเริ่มต้นทำงานต้องรู้กันดีกว่า
คิดให้ดีก่อนมีหนี้
บ้านหรือรถล้วนตามมาด้วยภาระหนี้ระยะยาว ยิ่งช่วงเริ่มต้นทำงานด้วยแล้ว การมีหนี้แต่ละก้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย
เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข ควรผ่อนหนี้ไม่เกิน 40%ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ควรผ่อนไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งน่าจะกู้บ้านได้ 858,000 บาท* หรือกู้รถได้ 317,000 บาท**
วางแผนใช้จ่ายให้เป็น
เมื่อรู้เงินเดือนแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการวางแผนว่าในแต่ละเดือนจะใช้จ่ายเท่าไรในเรื่องอะไรบ้างโดยเฉพาะเรื่องที่คาดคะเนได้ เช่น ค่าเดินทาง 3,000 บาท ค่าอาหารมื้อหลัก 4,000 บาท ค่าของใช้ส่วนตัว 1,000 บาท เป็นต้น
การวางแผนใช้จ่ายจะช่วยให้สามารถตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเรื่องต่างๆ ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และรายได้ของตนเอง และป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว
เงินเดือนเข้าต้องแบ่งเก็บ
ทำงานมาทั้งเดือนแล้วทุกคนก็อยากมีเงินเหลือเก็บ การวางแผนใช้จ่ายและไม่ผ่อนหนี้เกินตัว เป็นสิ่งที่ทำให้มีเงินเก็บได้ เช่น เงินเดือน 15,000 บาท หากวางแผนใช้จ่ายและผ่อนหนี้ตามตัวอย่างข้างต้นแล้ว ควรจะมีเงินเหลือเก็บเดือนละ 1,000 บาททุกเดือน (= 15,000 – 6,000 – 3,000 – 4,000 – 1,000 บาท)
สำหรับใครที่อยากมีเงินเก็บแต่ยังขาดวินัยใช้จ่าย สามารถเลือกวิธี “หักเงินเก็บอัตโนมัติ” ด้วยบริการของธนาคารที่ใช้อยู่ในจำนวนที่ตั้งใจไว้ เช่น 10%-20% ของเงินเดือน และควรระบุวันที่หักเงินอัตโนมัติให้ตรงกับวันที่เงินเดือนออก เพราะถือเป็นฤกษ์ที่ดีที่สุดของเหล่ามนุษย์เงินเดือน
เงินเก็บในบัญชีต้องมีให้พอ
เมื่อเก็บเงินได้แล้ว ก็ควรตั้งเป้าหมายการเก็บด้วย โดยเป้าหมายแรกของคนเริ่มทำงาน คือ ควรมีเงินก้อนให้ได้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือถ้าใครยังไม่รู้ค่าใช้จ่ายตนเอง ลองตั้งเป้าหมาย 6 เท่าของเงินเดือนตนเองก็ได้
โดยควรเก็บไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือกองทุนเปิดตราสารหนี้ระยะสั้นแบบที่มีสภาพคล่องสูง (T+1) เพื่อให้เงินก้อนนี้สามารถนำออกมาใช้ได้ทันเวลาเมื่อมีเหตุต้องใช้เงิน
แบ่งเงินไปลงทุนบ้าง
เมื่อมีเงินเก็บเพียงพอกับเป้าหมายแล้ว เงินเก็บส่วนที่เกินกว่านั้น ควรนำไปลงทุนเพื่อทำให้งอกเงยมากยิ่งขึ้น เช่น การลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หรือกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ การลงทุนในหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกองทุนหุ้น ที่มีความเสี่ยงสูง ฯลฯ
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน แต่มีฐานรายได้สูงที่ถึงเกณฑ์เสียภาษี การลองศึกษาเงื่อนไขกองทุน LTF กองทุน RMF และประกันชีวิต ที่ช่วยทำให้เงินงอกเงยและประหยัดภาษีไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
การเงินเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา คนที่เริ่มต้นก่อนและจัดการอย่างถูกวิธี ย่อมประสบความสำเร็จด้านการเงินได้เร็วกว่าคนอื่นๆ อย่างแน่นอน
* ผ่อน 30 ปี ดอกเบี้ย 7.50%ต่อปี (Effective Rate)
** ผ่อน 5 ปี ดอกเบี้ย 2.70%ต่อปี (Flat Rate)