×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

วิธีจัดการความขัดแย้งแบบสัตว์ 5 ชนิด

75,018

 

ทุกที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากกว่าหนึ่ง ย่อมเกิดความขัดแย้ง หรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน ในบรรยากาศการทำงานก็เช่นกัน ที่ความขัดแย้งดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น แต่ความสำคัญอยู่ที่เราจะจัดการความขัดแย้งนั้นอย่างไร เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดี และบรรลุความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย

 

หนังสือ “ฉลาดอย่างผู้นำ” เปรียบเทียบการจัดการความขัดแย้งกับสัตว์ 5 ชนิด ดังนี้

 

1.เต่า | หลีกเลี่ยง / ถอยหนี 

ธรรมชาติของเต่า คือ เมื่อมีภัยจะหดตัวหดหัวอยู่ในกระดอง เมื่อปลอดภัยแล้วจะยืดออกมา เต่าจะไม่สนใจเป้าหมายของงาน และไม่สนใจความสัมพันธ์ของบุคคล เราเรียกวิธีการจัดการความขัดแย้งนี้ว่า “การถอยหนี” คือ ทั้งเป้าหมายความสำเร็จในการทำงานและคนไม่สำคัญ

 

2.ฉลาม | ใช้อำนาจบังคับ 

ธรรมชาติของฉลามเป็นสัตว์ที่ดุร้ายพละกำลังมาก กินทุกอย่างที่ขวางหน้า เมื่อต่อสู้ก็จะเป็นฝ่ายชนะ การบริหารในวิธีนี้จะใช้อำนาจที่เหนือกว่าเข้าบังคับ โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายของผู้อื่น เพราะถือว่าการชนะคือความสำเร็จ ส่วนการพ่ายแพ้ นั้นคือ ความอ่อนแอ เรียกวิธีนี้ว่า “การใช้อำนาจ” คือ เป้าหมายความสำเร็จในการทำงานสำคัญกว่า แต่คนไม่สำคัญ ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น

 

3.หมีตุ๊กตา | ใช้ความนุ่มนวล 

หมีมีความเชื่อว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรให้ความขัดแย้งมาทำลายความสัมพันธ์อันดีต่อกัน หมีพร้อมที่จะยกเลิกเป้าหมายของตน ถ้าเป้าหมายนั้นไปทำลายความสัมพันธ์กับคนอื่น เรียกวิธีนี้ว่า “การใช้ความนุ่มนวล” คือ ให้ความสำคัญในเรื่องคน แต่เป้าหมายเรื่องงานไม่สำคัญ

 

4.หมาจิ้งจอก | ประนีประนอม 

หมาจิ้งจอกจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายของงาน เท่าๆ กับความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นทางสายกลางของการประนีประนอม พร้อมที่จะยกเลิกเป้าหมายของตน และเกลี้ยกล่อมให้คนอื่นยกเลิกเป้าหมายของเขาด้วย เรียกวิธีนี้ว่า “การประนีประนอม” คือ เป้าหมายและคนสำคัญปานกลาง

 

5.นกฮูก | แก้ปัญหาร่วมกัน 

นกฮูกมีความเชื่อว่า ความขัดแย้งคือปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ไข ทำให้เป้าหมายของตนและผู้อื่นสัมฤทธิ์ผล เรียกวิธีนี้ว่า “การแก้ปัญหาร่วมกัน” คือ ทั้งเป้าหมายและคนสำคัญเท่ากัน

 

โดยทั่วไปแต่ละคน จะมีบุคลิกมีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งได้หลายวิธี แต่มักจะมีวิธีการหลักหรือบทบาทหลัก ที่มักใช้เป็นประจำวิธีใดวิธีหนึ่ง จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอาจจะทำให้วิธีการเปลี่ยนไปได้ เช่น บางคนเมื่อเจอปัญหามักหลีกหนีความขัดแย้ง ไม่กล้าเผชิญหน้า ด้วยสไตล์ของ “เต่า”  แต่หากเพื่อนร่วมงานกดดันรุนแรง หรือหัวหน้างานกดดันให้แก้ปัญหาเร่งด่วน เขาอาจจะเปลี่ยนกลายเป็น “ฉลาม” เข้าต่อสู้ก็เป็นไปได้

 

ดังนั้นการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัญหานั้นๆ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับงาน หรือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่ากัน จากนั้นจึงเลือกใช้วิธีการทั้ง 5 วิธี ว่าควรจะใช้การแก้ไขในเรื่องงาน หรือเรื่องคน เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

 

บางครั้งอาจต้องใช้วิธี “พบกันคนละครึ่งทาง”ของ “สุนัขจิ้งจอก” คือยอมลดระดับความต้องการของตนเองลงบางส่วน และชักจูงให้เพื่อนร่วมงานยอมสละความต้องการของเขาลงบ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

 

หรือบางครั้งเราอาจต้องแสดงบทบาทสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ได้รับการยอมรับตามวิธีการของ “ตุ๊กตาหมี” ซึ่งผู้นำแบบนี้มักเน้นการสังสรรค์รื่นเริงมากกว่าความใส่ใจในเรื่องงาน

 

แต่บทบาทผู้นำที่สร้างสรรค์คือ “นกฮูก” ที่มองว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และพยายามให้แต่ละฝ่ายได้บรรลุถึงความต้องการของตน ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันไว้ได้

 

แน่นอนว่า วิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่ทุกคนไม่ชอบ ไม่อยากเจอก็คือ การบังคับแบบฉลาม แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะยังมีคนที่คิดว่า ตัวเองมีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่รับผิดชอบที่คนอื่นจะต้องขอความช่วยเหลือ พวกนี้จะแสดงอาการเกรี้ยวกราด ไม่พอใจเมื่อไม่ได้ดั่งใจ โดยสำคัญว่าคนอื่นผิด เขาจะทั้งกัดทั้งจิกสารพัดวิธีที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าตัวลีบเล็กลง บางครั้งถ้าอาการขั้นโคม่า เราอาจจะต้องเจอกับวิธีการที่ 6 ซึ่งไม่มีในตำรา ว่าเป็นวิธีการของ “หมาบ้า” ซึ่งหากเจอคนแบบนี้ คงต้องหนีให้ไกลห่าง

 

ที่มา : หนังสือฉลาดอย่างผู้นำ

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats