ช้อปตรุษจีน…ได้คืน VAT 5%
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ดีใจ เอ๋ย ดีใจจัง ยังไม่ใกล้ตรุษจีน (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562) แต่รัฐบาลก็ใจดี ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ กับอั่งเปาตรุษจีนตั่วๆ ไก๊ ปี 2562 ด้วยมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รับตรุษจีน สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ทุกคนที่เข้าร่วมมาตรการจะได้เงินชดเชยร้อยละ 5 ของราคาสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 5,350 บาท เป็นราคาสินค้า 5,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของ 5,000 บาท เท่ากับ 350 บาท เราจะได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปคืนมา 5% ของราคาสินค้า 5,000 บาท เท่ากับ 250 บาท โดยยอดเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราจะได้รับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท หรือเท่ากับการซื้อสินค้าและบริการประมาณ 21,400 บาท
แล้วสินค้าที่เราสามารถซื้อแล้วได้รับชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรการนี้เป็นสินค้าอะไรบ้าง
สินค้าและบริการดังกล่าวต้องเป็นสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องไม่เป็นสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต ได้แก่ สุรา ยาสูบ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน รถยนต์ รถจักรยานยนต์
ดังนั้น แปลว่าสินค้าอะไรก็ตามที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ใช่สินค้าที่มีภาษีสรรพสามิต เราซื้อก็จะได้ชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มหมด จึงนับว่าเป็นมาตรการที่เรามีแต่ได้กับได้ เพราะยังไงก็ต้องซื้อของอยู่แล้ว แต่รัฐบาลมาช่วยออกให้อีกสูงสุดถึง 1,000 บาท
เงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้มีอะไรบ้าง
1.เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีรายได้น้อย ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนคนจน ฯลฯ ขอแค่เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ต้องเกิดก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547) ก็พอ
2.เป็นผู้ถือบัตรเดบิตของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ (บัตรเดบิตคือ บัตรที่พวกเราเกือบทุกคนมีบัตรนี้อยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว ในฐานะบัตร ATM กดเงินสดที่ตู้ ATM นั่นแหละ) หรือมีระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ เช่น QR code
3.ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้วยการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 – 31 มกราคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th หรือลงทะเบียนผ่านสาขาผู้ให้บริการการชำระเงิน เช่น ธนาคารผู้ออกบัตรเดบิต เป็นต้น
4.สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีธนาคารเดียวกับที่นำมาลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชย พูดง่ายๆ คือ บัญชีบัตรเดบิตกับบัญชีที่ผูกพร้อมเพย์ไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีเดียวกัน
เมื่อเราปฏิบัติตามเงื่อนไขเสร็จแล้ว ก็สามารถไปซื้อของได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อของที่ไหนก็ได้นะ ต้องชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน Point of Sale (POS) ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเราสามารถดูรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วม มาตรการฯ ได้ทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th
เมื่อซื้อของเสร็จเรียบร้อย อยากรู้ว่าจะได้รับเงินชดเชยกี่บาท ก็ไม่ต้องกังวลใจ รอหลังมาตรการฯ สิ้นสุด (15 ก.พ. 2562) ก่อน เราก็สามารถสอบถามได้จากธนาคารผู้ให้บริการการชำระเงินที่เราระบุใน การลงทะเบียนว่าใช้บริการในเข้าร่วมมาตรการฯ แสดงว่าหลัง 15 ก.พ. 2562 เราก็จะรู้แล้วว่า เราจะได้เงินชดเชยกี่บาท
แต่เงินยังไม่เข้าบัญชีเราทันทีนะ ทางกรมสรรพากรจะจ่ายเงินชดเชยคืนเข้าบัญชีธนาคารของเราที่ผูกกับพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน โดยจะโอนเงินชดเชยให้เราภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือได้แน่ๆ แต่ช้าหน่อย
อั่งเปาคนละ 1,000 บาท ถ้าไม่เอาก็น่าเสียดายนะ แต่ถ้าใครอยากได้เงินชดเชยมากกว่า 1,000 บาท ก็คงต้องแสดงความเสียใจด้วย เพราะจำกัด 1 คนมี 1 สิทธิ์ต่อ 1 เลขที่บัญชีที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น