ดูบนมือถือ ซื้อบนเดสก์ท็อป
ในงาน Adobe Experience Forum 2017 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเพื่อนำเสนอข้อมูลด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มีตัวเลขสถิติของรายงาน Best of the Best Report ซึ่งเป็น insight จากการเยี่ยมชมราว 100,000 ล้านครั้งบนเว็บไซต์กว่า 3,000 แห่งทั่วเอเชียในช่วงปี 2559 ที่ชัดเจนว่า “สมาร์ทโฟน” คืออุปกรณ์หลักที่คนส่วนใหญ่ใช้เพื่อเข้าชมเว็บไซต์ และยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากนับตั้งแต่ปี 2014 อัตราการเติบโตสูงถึง 145% ตรงกันข้ามกับการเข้าชมผ่านเดสก์ท็อป และแท็บเล็ตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (-9% และ -5% ตามลำดับ)
แม้ยอดการเยี่ยมชมเว็บไซต์บนเดสก์ท๊อปจะมีอัตราที่ลดลงในทุกประเทศ และทุกอุตสหกรรม แต่ Conversion Rate (อัตราการเกิดธุรกรรมซื้อ-ขายขึ้นบนเว็บไซต์) บนเดสก์ท็อปกลับเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด (20.8% YoY) ตามมาด้วยสมาร์ทโฟน (14.3% YoY) สะท้อนให้เห็นว่าแม้ผู้บริโภคจะหาข้อมูลจากสม์ทโฟน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำธุรกรรมบนเดสก์ท็อป
Trust เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ปรากฏการณ์นี้ Adobe มองว่าเป็นเรื่องของความไว้ใจในระบบ โดยคนไทยยังมีความเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ยังมีความปลอดภัยทางข้อมูลมากกว่าโทรศัพท์มือถือ หนึ่งตัวอย่างที่ตอกย้ำเรื่องนี้คืออัตราการใช้พร้อมเพย์หรือ mobile banking ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร
เวลาอยู่ในเว็บไซต์ลดลง ต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะกับพฤติกรรม
Adobe ยังระบุด้วยว่า การประเมินประสิทธิภาพของการโฆษณาโดยการวัดยอดวิว ยอดคลิ๊ก อาจจะไม่ใช้คำตอบอีกต่อไป เนื่องจากพฤติกรรมในการเยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นเวลานานๆ (Stickiness) ลดลงราว 10% แต่สิ่งที่ได้มากขึ้นก็คือความถี่ในการเข้าเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้น
โดยหากระยะเวลาที่ใช้บนเว็บไซต์ลดลง ก็ประเมินได้ว่าผู้เยี่ยมชมอาจไม่พบเนื้อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือน่าดึงดูดใจเพียงพอ ดังนั้นเนื้อหา (content) ที่นำเสนอจึงต้องรองรับระยะเวลาใช้งานที่สั้นลงแต่มีความถี่ในการเข้าดูที่สูงขึ้น ด้วยการออกแบบ (design) ให้สอดคล้องไปกับสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
Adobe Digital Insights 2017 – Best of the Best Report
Digital Marketing มากกว่าแค่การโฆษณา
Digital Marketing เป็นอะไรที่มากกว่าแค่การโฆษณา เพราะ Digital Marketing เป็นเรื่องของการจัดการกับข้อมูลมหาศาล (Big Data) ที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อหา Patten จนไปสู่การออกแบบและสร้างประสบการณ์ ที่เฉพาะเจาะจงแก่ลูกค้า
4 ความท้าทาย เมื่อ “ออฟไลน์” สู่ “ออนไลน์”
1. Context is the starting line
การรวบรวมบริบทต่างๆ ให้สามารถโต้ตอบผู้บริโภคได้ทุกมิติ ผ่านการนำข้อมูลมหาศาล (Big data) มาสร้างเป็นรูปแบบของชุดคำตอบ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือวิธีการหนึ่งในการลดทอนปัญหาของการสื่อสารรูปแบบเดิม นั่นคือระบบ Call Center
นอกจากนั้นในอนาคต หากจะมีการออกสินค้า-บริการใหม่ หรือการสั่งให้ทำงานใดงานหนึ่ง ก็ย่อมขึ้นอยู่กับบริบทที่เกิดขึ้นเช่นกัน
2. Design for speed and scale
การออกแบบเพื่อให้ทุกอย่างทำได้ง่าย รวดเร็ว และเพิ่มปริมาณได้อย่างง่ายดาย มีให้เห็นผ่านการออกแบบเว็บไซต์ที่เป็นลักษณะ Drag & Drop ความง่ายที่เทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถมี Personal website ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น และนั่นย่อมทำให้จำนวนการใช้งาน Artwork เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นหากมีระบบที่คัดกรองให้เหมาะสมและถูกใจผู้ใช้ ย่อมทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ทรงพลัง และช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย
3. Milliseconds make the journey
“แค่เสี้ยววินาทีก็เพียงพอ” นี่คือนิยามใหม่ในวันที่ Prime Time มีบทบาทน้อยลง เปลี่ยนเป็น My Time เพราะพฤติกรรมของคนที่เชื่อมต่อเข้าสู่ออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้โดยตรง ขณะที่การประมวลผลข้อมูลในอดีตก็สามารถชี้นำความต้องการของผู้บริโภคได้แม่นยำขึ้น ทำให้เราเห็นภาพของการออกโปรโมชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
4. Integrate to innovate
การตลาดจะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายการตลาดเพียงเท่านั้น ทุกภาคส่วนย่อมมีบทบาทในการผลักดันกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อโฆษณาสินค้าและบริการ โดยไม่ได้เป็นเพียงการบูรณาการผ่านการประชุมแสดงความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในโลกออนไลน์ที่ทุกฝ่ายสามารถดึงไปใช้ในการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับฝ่ายงานของตน
กด Subscribe รอเลย…