ตั้งเป้าหมายการเงินยังไง? ดีต่อใจ…สบายกระเป๋า
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
พูดถึงการวางแผนการเงิน การตั้งเป้าหมายถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้เราทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้ได้ โดยการตั้งเป้าหมายที่ดีจะต้องเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน (Specific) วัดผลได้ (Measurable) ทำให้สำเร็จได้ (Achievable) ทำได้จริง (Realistic) และกำหนดเวลาชัดเจน (Time Bound) โดยการตั้งเป้าหมายทางการเงินสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้
เป้าหมายระยะสั้น
เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จภายในช่วงเวลา 3 ปี เช่น เก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินดาวน์รถ จากระยะเวลาในการไปให้ถึงเป้าหมายที่สั้น ส่งผลให้เครื่องมือในการเก็บออมจะต้องมีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากปลอดภาษี กองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์
ทั้งนี้ หากเลือกเก็บออมในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น เมื่อต้องการใช้เงิน แต่อยู่ในช่วงสภาวะตลาดหุ้นไม่ดี อาจจำเป็นต้องขายหุ้นออกมาแบบขาดทุน และไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้
เป้าหมายระยะกลาง
เป็นเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จในช่วง 3-7 ปี เช่น เก็บเงินค่าเล่าเรียนชั้นอนุบาลตั้งแต่ลูกเกิด เก็บเงินไว้เรียนต่อปริญญาโทในต่างประเทศตั้งแต่เริ่มทำงาน
จากระยะเวลาในการเก็บออมที่ยาวกว่าเป้าหมายระยะสั้น สินทรัพย์ในการลงทุนก็สามารถเพิ่มระดับความเสี่ยงให้สูงขึ้นได้ แนะนำให้ลงทุนในกองทุนผสมซึ่งเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น เช่น หากเลือกลงทุนในกองทุนผสมที่มีหุ้นประมาณ 30% และที่เหลือเป็นตราสารหนี้ ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนผสมที่มีสัดส่วนหุ้นมากขึ้น จะส่งผลให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็จะมีโอกาสขาดทุนได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากเป้าหมายทางการเงินมีความสำคัญมากชนิดที่พลาดไม่ได้ การลงทุนในกองทุนผสมที่มีหุ้นไม่เกิน 30% ดูจะเป็นทางเลือกที่สบายใจกว่าการลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนในหุ้นมากขึ้น
เป้าหมายระยะยาว
เป็นเป้าหมายที่มีระยะเวลา 7 ปีขึ้นไปในการทำให้สำเร็จ เช่น เก็บเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ เก็บเงินเพื่อส่งลูกเรียนปริญญาตรีตั้งแต่เมื่อลูกเกิด ระยะเวลาที่นานของเป้าหมายระยะยาวส่งผลให้การเก็บออมเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้มากขึ้น ซึ่งสัดส่วนในการลงทุนหุ้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ที่เก็บออม
ไม่ว่าจะเก็บออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นหรือยาว สิ่งสำคัญคือ ความมีวินัยในการออมหรือลงทุน โดยจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าสถานการณ์การลงทุนเป็นอย่างไร เพราะเมื่อตลาดหุ้นมีทิศทางปรับตัวลง หลายคนมักไม่ลงทุนเพื่อเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อย่างต่อเนื่องจากความกลัวสภาวะตลาดหุ้นในช่วงนั้น ทำให้พลาดโอกาสที่จะลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ