ออกจากงานประจำ ต่อประกันสังคมดีมั้ย?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“ออกจากงานประจำแล้ว ยังจ่ายประกันสังคมต่อดีไหม?” คำตอบนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคนจ่ายประกันสังคมกันมานานแค่ไหน เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบอกเลยว่าต่างกัน
จ่ายประกันสังคมมาแล้ว 15 ปีขึ้นไป
แนะนำว่า “ไม่ควร” ไปต่อกับประกันสังคม เพราะทำให้สิทธิชราภาพหรือเงินบำนาญที่ได้รับลดลง (ต้องรอรับบำนาญตอนอายุ 55 ปี หรือเมื่อออกจากงานหลังอายุ 55 ปี) โดยเงินบำนาญที่ได้คำนวณจากสูตร
เงินบำนาญแต่ละเดือน = [20% + ((จำนวนปีที่จ่ายประกันสังคม* – 15 ปี) x 1.5%)] x ฐานเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย
*เศษปี ตัดทิ้ง |
จากสูตรจะเห็นว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินบำนาญคือฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดย
– ช่วงที่ทำงานประจำ ถือเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณ คือ เงินเดือนจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
– ช่วงที่ออกจากงานประจำแล้ว แต่แจ้งความประสงค์จ่ายเงินเข้าประกันสังคมต่อ ถือเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจมาตรา 39 ฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณ คือ 4,800 บาท
ดังนั้นหากไปต่อกับประกันสังคมภาคสมัครใจหลังออกจากงาน ฐานเงินเดือนจะลดลงจาก 15,000 บาท เหลือ 4,800 บาท หรือเหลือเพียง 32%ของฐานเงินเดือนเดิม ส่งผลให้เงินบำนาญที่ได้ลดลงอย่างแน่นอน
แม้ว่าการจ่ายประกันสังคมนานขึ้นทุก 1 ปี (ทุก 12 เดือน) จะได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น 1.5%ของฐานเงินเดือนเฉลี่ยฯ แต่ยังคงไม่สามารถชดเชยกับฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ลดลงได้
จ่ายประกันสังคมมาไม่ถึง 15 ปี และทำงานอิสระต่อ
แนะนำว่า “ควร” ไปต่อกับประกันสังคม เป็นผู้ประกันมาตรา 39 เพราะนอกจากเป็นการบังคับตนเองในการสะสมเงินต่อเนื่องจากช่วงที่ทำงานเพื่อให้ได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินก้อนตอนที่เกษียณ (กรณีสมทบไม่ถึง 15 ปี) ด้วยตนเองแล้ว ภาครัฐยังช่วยสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง แถมยังคงได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมอีก 5 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต และสงเคราะห์บุตร ด้วย
แต่อย่าลืมว่าต้องยื่นคำขอเป็นผู้ประกันมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกจากงานด้วยตนเอง ที่สำนักงานประกันสังคมแต่ละพื้นที่ โดยต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หรือเลือกหักบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารที่กำหนดก็ได้ (ปัจจุบันมี 6 ธนาคาร ดูเพิ่มเติม www.sso.go.th)
จ่ายประกันสังคมมาไม่ถึง 15 ปี และไม่ทำงานต่อ
แนะนำว่า “ไม่ควร” ไปต่อกับประกันสังคม เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายเดือนละ 432 บาท (เงินสมทบ) ที่แม้ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม 6 กรณี แต่ในระยะยาวแล้วถือเป็นสิ่งบั่นทอนเงินเก็บที่อยู่ให้หมดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่มีรายได้อื่นมาทดแทน
แต่สำหรับใครที่กังวลใจเรื่องสวัสดิการกรณีเจ็บป่วย แนะนำให้ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงแต่อาจมีรายละเอียดการใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่ต่างไปจากประกันสังคมอยู่บ้างเท่านั้น
ประกันสังคม ถือเป็นสิทธิประโยชน์หนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนมี การศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจใดๆ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิทธิประโยชน์หรือการเงินเรื่องอื่นๆ เลย