ภาษีกับทะเบียนสมรส
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ทะเบียนสมรส นอกจากเป็นความผูกพันทางใจและทางกฎหมายแล้ว รู้มั้ยว่ายังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการจัดการภาษีอีกด้วย
คู่ที่มีหรือกำลังจะมีบุตร
สำหรับคู่ไหนที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่สามารถนำค่าใช้จ่ายการ “ฝากครรภ์และคลอดบุตร” มาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 60,000 บาท โดยต้องหักสวัสดิการที่ได้รับด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายจริง 100,000 บาท เบิกสวัสดิการได้ 40,000 บาท เหลือใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 20,000 บาท เท่านั้น
สำหรับคู่ที่มีบุตรแล้ว หากบุตรนั้นอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปี แต่ยังเรียนในมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาอยู่ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนบุตร
หากคู่ไหนมีบุตรหลายคน บุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อีกคนละ 30,000 บาท (รวมเป็นคนละ 60,000 บาท)
คู่ที่มีรายได้คนเดียว
สิทธิทางภาษีที่ได้อัตโนมัติ คือ ลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ โดยลดหย่อนได้ทันที 60,000 บาท
อีกสิทธิภาษีที่เลือกใช้เพิ่มได้คือ ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 10,000 บาท (ปกติ 100,000 บาท) โดยคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้นั้นต้องเป็นผู้เอาประกันและผู้ชำระเบี้ย
ทั้งนี้คนที่มีเงินได้ที่ต้องยื่นภาษีอยู่แล้วจะเป็นผู้กรอกข้อมูลเพิ่มเพื่อใช้สิทธิดังกล่าว
คู่ที่มีรายได้อื่นนอกจากงานประจำ
สำหรับคู่รักไหนที่แต่ละคนมีรายได้ 40(1) ได้แก่ เงินเดือน โบนัส ที่ได้จากงานประจำในจำนวนที่ต่างกันมากๆ และมีรายอื่นที่เป็น 40(2) – 40(8) เช่น วิทยากรรับเชิญ คอนโดปล่อยเช่า ขายของออนไลน์ ฯลฯ ด้วย สามารถยื่นภาษีโดยนำรายได้ 40(2) – 40(8) ของคนที่มีรายได้ 40(1) สูงๆ ไปยื่นภาษีของอีกคนหนึ่งที่มีรายได้ 40(1) น้อยๆ ได้
ผลของการยื่นภาษีแบบนี้จะส่งผลให้ภาระภาษีโดยรวมของทั้งคู่ต่ำลงกว่า การต่างฝ่ายต่างยื่นรายได้ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น หากคำนวณฐานภาษีเฉพาะของรายได้ 40(1) พบว่านาย A มีฐานภาษี 10% ส่วนนาง B มีฐานภาษี 20% ซึ่งหากครอบครัวนี้มีรายได้อื่นอีก 1 แสนบาทไม่ว่าจะเป็นรายได้จากใครก็ตาม หากเลือกได้ ทุกคนคงอยากนำรายได้ 1 แสนบาทนั้น ไปเสียภาษีที่ฐาน 10% หรือประมาณ 10,000 บาท แทนที่จะเสียภาษีฐาน 20% หรือประมาณ 20,000 บาท อย่างแน่นอน
นอกจากภาษีแล้ว ยังมีการเงินอีกหลายๆ เรื่องที่คู่รักหรือคู่สมรสควรให้ความสำคัญ เพื่อให้การจัดการเงินของชีวิตคู่มีความราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด
* บิดาใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ ต้องจดทะเบียนสมรสหรือจดรับรองบุตร
** ค่าลดหย่อนที่เท่ากัน จำนวนเงินภาษีที่ประหยัดได้อาจต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานภาษีแต่ละบุคคล เช่น ฐานภาษี 10% ใช้สิทธิลดหย่อน 10,000 บาท สามารถประหยัดภาษีได้ประมาณ 1,000 บาท (= 10% x 10,000 บาท)