ม. มะม่วง
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มีเหตุการณ์อันชวนคิดตอนหนึ่งเกี่ยวกับมะม่วง คือ เมื่อพระมหาชนกเสด็จประพาสอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผลอีกต้นหนึ่งไม่มีผล พระองค์จึงเสวยผลมะม่วงซึ่งมีรสหวานจับใจ จึงตั้งพระทัยจะเสวยอีกเมื่อเสด็จกลับ
แต่ปรากฏว่าต้นมะม่วงที่มีผลถูกประชาชาชนรุมกันแย่งยื้อหักกิ่งเก็บผลและถึงกับโค่นต้นจนล้มลงเสียหาย จึงมีพระราชดำริว่าการครองราชสมบัติก็เหมือนกับต้นไม้มีผลซึ่งย่อมนำภัยมาให้แก่ตนเอง ขณะที่การออกบรรพชาเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีผลซึ่งเป็นหนทางของการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา
ทว่าพระมหาชนกในพระราชนิพนธ์ตอนท้ายนี้แตกต่างจากเนื้อความในชาดกเดิม โดยพระองค์ยังไม่ออกบรรพชาทันที เพราะทรงตระหนักว่าพสกนิกรยังลุ่มหลงอยู่ในอวิชชา ถูกครอบงำด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง จึงทรงก่อตั้งมหาวิชชาลัยเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางและสั่งสอนความรู้ให้พสกนิกรหลุดพ้นจากอวิชชาเสียก่อน และก่อนที่จะทรงตั้งสถาบันการศึกษา พระมหาชนกทรงแสดงปัญญาในการฟื้นฟูต้นมะม่วงที่โค่นลง
โดยพระราชทานวิธีไว้เก้าวิธี คือ ๑.เพาะเมล็ด ๒.ถนอมรากที่เหลืออยู่ให้งอกใหม่ ๓.ปักชำกิ่ง ๔.เสียบยอด ๕.ต่อตา ๖.ทาบกิ่ง ๗.ตอนกิ่งให้ออกราก ๘.รมควันต้นไม้ที่ไม่มีลูก ๙.ทำชีวาณูสงเคราะห์(การเพาะเซลล์)
ที่มา : หนังสือ ตามรอยพ่อ ก-ฮ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์