×

Wealth Me Up คำพ่อสอน

ว. วันภาษาไทยแห่งชาติ

6,322

 

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จะประทับและทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ทรงเยาว์ เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี และทรงศึกษาทั้งภาษาละติน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่ก็ทรงได้รับการปลูกฝังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย

 

ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงร่วมอภิปรายในเรื่อง “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” และมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ความว่า

 

“…ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี

 

“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานั้นก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้…ปัญหาเรื่องการออกเสียงนั้นก็อันตรายอย่างยิ่ง นึกถึงคำว่า มหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ทางโทรทัศน์หรือทางวิทยุได้ยินคำว่า หมาวิทยาลัย กลายเป็น วิทยาลัยหมา ออกจะอันตราย ซึ่งเรายอมไม่ได้…บางสิ่งบางอย่างเราต้องยอมบางสิ่งบางอย่างเราต้องคัดค้านอย่างเด็ดขาด…”

 

การเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในเมืองไทย และทำให้เกิดการตื่นตัวในการทำนุบำรุงภาษาไทย ต่อมาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยจุฬาฯ จึงเสนอคณะรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

 

ที่มา : หนังสือ ตามรอยพ่อ ก-ฮ  ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์

Related Stories

amazon anti fatigue mats