สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพแบบไหนคุ้ม?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ภาวะฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายๆคนไม่สบายกันเป็นแถว แต่เมื่อเข้าไปโรงพยาบาล ก็พบกับค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพง
ถึงตอนนี้ภาครัฐกำลังพยายามเข้ามากำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น แต่ค่ารักษาพยาบาลก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและบริหารยาก ซึ่งการบริหารค่ารักษาพยาบาลที่ดีวิธีหนึ่งคือ การซื้อประกันสุขภาพ
ก่อนจะซื้อประกันสุขภาพก็ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันหน่อย…
ประกันสุขภาพเป็นประกันแบบเบี้ยจ่ายทิ้ง คือ หากเจ็บป่วย ก็ได้รับการคุ้มครอง แต่หากไม่เจ็บป่วย จะไม่ได้รับเงินคืน พูดง่ายๆก็เหมือนประกันรถยนต์ที่เราชอบซื้อกัน ถ้าเจออุบัติเหตุ ก็เคลมค่าเสียหายได้ แต่ถ้าไม่เจออุบัติเหตุ ก็เสียฟรี
หากต้องการความคุ้มครองต่อเนื่อง ต้องส่งเบี้ยประกันไปตลอด ถ้าหยุดจ่ายเมื่อไหร่ ความคุ้มครองก็หยุดตอนนั้น และถ้าจะซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตต้องซื้อเป็นสัญญาเป็นสัญญาเพิ่มเติม คือต้องซื้อประกันชีวิตตัวหลักก่อน โดยสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพมี 2 แบบ คือ
สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพแบบเดิม Premium Paying Rider (PPR) เป็นสัญญาเพิ่มเติมที่จ่ายเบี้ยประกัน และให้ความคุ้มครองปีต่อปี ปีไหนไม่จ่ายหรือจ่ายพ้นระยะเวลาผ่อนผัน สัญญาก็จะสิ้นสุดความคุ้มครองทันที
ข้อดี คือ จ่ายเบี้ยตามความเสี่ยงจริง เบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ตอนอายุน้อย มีความเสี่ยงน้อย เบี้ยที่ต้องจ่ายก็น้อย อายุมากขึ้น ความเสี่ยงมากขึ้น เบี้ยที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้น ยุติธรรมดี
ข้อเสีย ก็อยู่ที่เบี้ยประกันปรับที่เพิ่มตามอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น รายได้เริ่มน้อยลง โดยเฉพาะช่วงเกษียณอายุที่ไม่มีรายได้ประจำแล้ว แต่เบี้ยประกันกลับสูงขึ้น ทำให้บริหารค่าใช้จ่ายยาก ทำให้หลายคนจ่ายไม่ไหวต้องยกเลิกไปก่อน และปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตอนช่วงอายุสูงๆ ที่จ่ายไม่ไหวนี่แหละ
เพื่อแก้ข้อกังวลของสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพแบบ PPR ในตลาดจึงมีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบใหม่ ที่เรียก Unit Deducting Rider (UDR) เป็นสัญญาเพิ่มเติมแบบที่ชำระค่าการประกันภัยโดยการขายคืนหน่วยลงทุนบางส่วนมาจ่ายค่าใช้จ่าย ซึ่งใช้ได้กับกรมธรรม์ชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เท่านั้น
ข้อดี คือ เบี้ยประกันสุขภาพคงที่ตลอดอายุสัญญาไม่มีการปรับเพิ่มตามอายุ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนในเรื่องเบี้ยประกันในระยะยาว แต่ของฟรีไม่มีในโลก ที่บริษัทประกันสามารถเก็บเบี้ยประกันสุขภาพคงที่ได้ตลอดอายุสัญญา ก็เพราะในช่วงต้นของสัญญา คือ ช่วงอายุน้อยๆ เบี้ยประกันสุขภาพแบบ UDR จะแพงกว่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบ PPR เพื่อบริษัทประกันจะได้นำค่าเบี้ยที่เก็บแพงขึ้นไปลดค่าเบี้ยที่เราต้องจ่ายแพงตอนอายุเยอะๆ นั่นเอง
แต่จะเลือกประกันสุขภาพแบบไหน ก็คงต้องเปรียบเทียบค่าเบี้ยที่เราต้องจ่ายตลอดอายุโครงการว่าอย่างไหนแพงกว่า ในหลายๆครั้ง จะพบว่าเบี้ยประกันแบบคงที่ (UDR) รวมตลอดโครงการจะต่ำกว่าการจ่ายเบี้ยแบบปรับเพิ่มขึ้น (PPR) ค่อนข้างมาก
แต่ทำนองเดียวกัน ถ้าเราเกิดเสียชีวิตเร็วไม่ได้อยู่ตลอดอายุโครงการ หรือ เรายกเลิกประกันสุขภาพไปก่อน ก็เท่ากับเราจ่ายเบี้ยที่แพงกว่าสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพแบบ UDR ในช่วงแรกๆ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของเบี้ยที่คงที่ในช่วงปลายๆอายุเลย ดังนั้นถ้ามองในแง่ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็ว เบี้ยประกันสุขภาพแบบ PPR ก็น่าจะถูกกว่า
แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพแบบไหน การซื้อประกันสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะช่วยบริหารความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีใครหนีพ้น และนอกจากนี้เรายังสามารถเอาค่าเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีเงินได้ได้อีก 15,000 บาทอีกด้วย