รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
นักเศรษฐศาสตร์หลายคน แสดงความคิดเห็นในรูปแบบของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป โดยรูปแบบที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ การฟื้นตัวแบบตัว U เป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่บางคนก็บอกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัว W หรือค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น จากนั้นอีกไม่นานก็จะทรุดตัวลงไปอีกครั้งอย่างไรก็ตาม รูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีมากกว่านี้
รูปแบบตัว U
เป็นรูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงมากที่สุด โดยรูปแบบการฟื้นตัวจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เช่น ใช้เวลา 2 – 3 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปเติบโตอย่างชัดเจน หมายความว่า รูปแบบนี้จึงเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบแอ่งก้นกระทะ คือ ค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลานานกว่าจะกลับไปสู่จุดก่อนเกิดวิกฤติ
ตัวอย่าง ในช่วงปี 2516 – 2517 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำ ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานพร้อมๆ กัน จนกระทั่งปี 2518 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
รูปแบบตัว V
เป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว V หรือไม่นั้น สังเกตได้ง่ายจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับลดลงไปอย่างรวดเร็ว แต่อีกไม่นานตัวเลขเหล่านี้ก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ตัวอย่าง ในไตรมาสแรก ปี 2552 เศรษฐกิจเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ ภาคการส่งออกหดตัวอย่างลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นปรับลดลง เช่น ดัชนีหุ้นไทยเคยซื้อขายแถวๆ 900 จุด ปรับลดลงสู่ 400 จุดภายในเวลารวดเร็ว แต่เข้าสู่ไตรมาส 2 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับดัชนีหุ้น ต่างปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
รูปแบบตัว W
เป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนที่เศรษฐกิจจะตกลงไปอีกครั้ง การสังเกตคือ เศรษฐกิจมีการตกต่ำลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการฟื้นตัวกลับคืนมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่การฟื้นตัวนั้นไม่ยั่งยืน จนทำให้เศรษฐกิจตกลงไปอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมา และหากภาวะเศรษฐกิจเป็นรูปแบบนี้ อาจทำให้ตลาดหุ้นซบเซาเป็นระยะเวลานานพอสมควร
รูปแบบที่คล้าย ๆ กับตัว W เรียกว่า Double Dip Recession โดยเมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นมาระยะสั้น เช่น 1 – 2 ไตรมาสติดต่อกัน จากนั้นเศรษฐกิจก็กลับไปซบเซาอีกครั้ง ถือเป็นการฟื้นตัวไม่มีความยั่งยืน
ตัวอย่าง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ตกต่ำในเดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2523 โดยจีดีพีติดลบต่ำสุดถึง 8% อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่เดือนถัดมาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดย 3 เดือนแรกปี 2524 จีดีพีขยายตัวได้ถึง 8.4% ถัดจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ผลที่ตามมาคือ เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ปี 2524 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กลับไปหดตัวอีกครั้ง โดยจีดีพีติดลบประมาณ 6%
รูปแบบตัว L
เป็นรูปแบบที่น่ากลัวมากที่สุด เพราะจากลักษณะของตัวอักษร L จะเห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจปรับลดลงอย่างรวดเร็วและลึก แต่การฟื้นตัวกลับใช้เวลานานกว่าจะกลับมาได้
ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นในปี 2533 ซึ่งเกิดฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ โดยหลังจากปีดังกล่าว อัตราการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 1% ตลอดเป็น 10 ปี เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า ภาวะ Lost Decade หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็คือ เราทำงานมาตลอด 10 ปี แต่ได้เงินเดือนเท่าเดิมหรือเงินเดือนขึ้นเพียงเล็กน้อย