วินัยทางการเงินสร้างได้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ปัญหาหนักใจของคนต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เฉกเช่นคนทั่วไปที่ตั้งใจปรับปรุงตัวหรือพัฒนาศักยภาพบางอย่างให้กับตัวเอง คือ การสร้างวินัยในตัวเอง (Self-Discipline)
ดังนั้น ในวันนี้เราจึงควรทำความรู้จักคำว่า “ วินัย” กันให้ถ่องแท้ และมาร่วมกันค้นหาถึงอุปสรรคที่ทำให้ใครสักคนมีปัญหากับการสร้าง “ วินัย” ให้กับตัวเองในการทำอะไรบางอย่าง ไปจนถึงแนวทางช่วยเหลือให้ ใครก็ตามที่ต้องการ “ วินัย” สามารถสร้างและช่วยให้ “ วินัย” นำพาไปสู่เป้าหมายได้ตามต้องการ
“วินัย” สำหรับบางคนหมายถึงการสูญเสียอิสระภาพ หรือสูญสิ้นความสะดวกสบายในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คนที่ต้องการลดความอ้วนจะเสียอิสระในการกินตามพฤติกรรมเดิมๆ ของตนเอง คนที่ต้องการเก็บเงินในวัยเกษียณจะต้องสูญเสียอิสระในการ ช้อปปิ้งในปัจจุบันไปบางส่วน
แต่ความจริงอีกด้านคือ “วินัย” หมายถึง “อิสรภาพ” เพราะเมื่อวันที่เรามีวินัยในเรื่องใดๆ ก็ตาม จนถึงวันที่เป้าหมายเป็นจริง วันนั้นคือวันแห่งอิสระภาพ จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ วันแห่งอิสระภาพของคุณผู้หญิงคนหนึ่งที่จะมีรูปร่างดีสมส่วน มีความมั่นใจมากขึ้นตามต้องการ หรือวันแห่งอิสระภาพของคนที่เก็บหอมรอมริบจนถึงวัยเกษียณที่สามารถมีวิถีชีวิตได้ตามต้องการ
2 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการส่งเสริมวินัย
1.กำลังใจ (Willpower) หรือสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระทำ โดยกำลังใจมาจากทั้ง แรงดึง และแรงดัน
- แรงดึงที่มาจากความต้องการภายใน
เช่น การกระทำใดๆ ที่สร้างให้ชีวิตเราเกิดความั่นคง ปลอดภัย และเกิดการยอมรับในสังคม
- แรงดึงที่มาจากความศรัทธา
เช่น ความเชื่อมั่นในศาสนา (ความดี ความถูกต้อง) ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล หรือ ความเชื่อมั่นในหลักการ ทฤษฎี หรือปรัชญาใดๆ
- แรงดันอันมาจากเงื่อนไขที่จำเป็น
เช่น การถูกผูกมัดด้วยสัญญา ข้อกฎหมาย เช่น การต้องรายงานตัวต่อศาล เพื่อแสดงหลักฐานการประพฤติปฏิบัติที่ดีขึ้น หรือการต้องเก็บเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือนแบบอัตโนมัติ เพราะเป็นข้อบังคับให้ทำและไม่สามารถยกเว้นได้
- แรงดันอันมาจากเงื่อนไขที่ทำให้กลัว
เช่น ความกลัวความสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงทำให้ต้องทำประกัน และจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ ความกังวนห่วงบุตรหลานมีอนาคตไม่สดใส จึงตั้งใจเก็บหอมรอมริบ ส่งเขาเหล่านั้นให้ได้เรียนสูงๆ
2.ค่านิยม ( Value)
หรือเราอาจเรียกว่าเป็นมาตรฐานของสังคม หรือคนส่วนใหญ่ ที่ช่วยให้เราคงพฤติกรรมใดๆ ให้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับหรือที่สังคมยึดถือปฏิบัติกัน เช่น ในบางสังคมจะมีค่านิยมทางวัตถุ ต้องมีของใหม่ ทันสมัย ใช้สอย อวดประชันกัน ด้วยค่านิยมเช่นนี้ ก็จะทำให้เราตั้งใจซื้อหาและยอมเสียความสบายบางส่วนเพื่อแลกกับวัตถุที่เป็นที่นิยมของสังคม และยอมมีวินัยกับการผ่อนซื้อสินค้าเหล่านั้น หรือในบางสังคมที่มีค่านิยมในการเก็บหอมรอมริบ กับทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ก็จะทำให้คนในสังคมนั้น มีวินัยในการเก็บเงิน โดยอัตโนมัติ
3 ปัจจัยสำคัญ บั่นทอนวินัย
1.การเสียขวัญ และกำลังใจ
เช่น การรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการยอมรับ หรือ การไม่ได้รับผลตอบแทนที่ควรจะได้ (เช่นในภาวะเศรษฐกิจตก หุ้นตก กองทุนผลตอบแทนลด) เหล่านี้จะทำให้เราหยุดการกระทำที่ควรทำ อันจะนำไปสู่การไม่สามารถรักษา “ วินัย” ที่ดีไว้ได้
2.ความจำเป็น
อันเกิดมาจากการถูกบังคับข่มขู่ ความขัดสน การต้องตอบแทนพระคุณ หรือการถูกล่อลวง
3.กิเลส
อันมาจากความอยาก ความประมาท ความเห่อ ความคับข้องใจ ฯลฯ (คุณลองใส่ที่มาของกิเลสของคุณดู)
การสร้างวินัยทางการเงินทำได้อย่างไร
จากปัจจัย ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหรือปัจจัยที่บั่นทอน วินัย หากเราทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้เราสามารถรักษาวินัยทางการเงิน หรือ สร้างวินัยทางการเงินได้ โดยอาจแบ่งได้เป็น 6 ข้อ ดังนี้
- สร้างแรงบรรดาลใจ
การเขียนข้อความระบุเป้าหมาย ติดตัว หรือติดไว้ในที่ที่จะพบเห็นได้บ่อยๆ เช่น
ที่หน้าคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน หรือที่กระจกแต่งหน้าในห้อง หรือที่ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ เช่น “ เก็บเดือนละ 20,000 ส่งลูกเรียนอเมริกา” หรือ “ มีบ้าน 10 ล้าน ภายในปี 2020” หรือ “MIT B-School MBA ใช้เงิน 3 ล้านบาท” ข้อนี้จะเป็นการสร้าง Willpower อันเกิดจากภายในของเราเอง ซึ่งสำคัญกว่าการสร้างคือ การคงความเป็น Willpower ให้อยู่กับเราโดยไม่ถูกแทรกแซงง่ายๆ ด้วยกิเลสต่างๆ
- สร้างการยอมรับจากภายนอก
การสื่อสารถึงพฤติกรรมที่ดีที่มีวินัยของตนเอง ต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้าง โดยเฉพาะต่อคนที่มีนิสัยให้กำลังใจ และมองโลกในแง่ดี นอกจากจะได้รับกำลังใจที่ดีตอบกลับต่อพฤติกรรมที่ดีที่ทำแล้ว ยังเป็นการสร้างการยอมรับอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมที่จะรักษาวินัยเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะทำคนเดียวและเก็บไว้คนเดียว ชื่นชมคนเดียว หรือล้มเลิกไปง่ายๆ คนเดียว
- กำหนดการผูกมัดที่ปรับเปลี่ยนยาก
เช่น การเพิ่มเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ การฝากเงินเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ผ่านบัญชีที่ไม่สามารถเบิกถอนได้ง่ายๆ การบังคับตัดบัญชีเงินฝาก กับรายจ่ายประจำสำคัญเช่น ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น
- ยอมรับพฤติกรรมที่ดี และไม่ดี
การตระหนักถึงพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรค หรือ สังคมที่มีค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างวินัยที่ดี เครื่องเตือนภัยที่ดี สำหรับการหลีกเลี่ยง ถ้าเราตระหนัก (การได้คิด ก่อนทำพฤติกรรมนั้นๆ) ถึงการกระทำใดๆ ว่าไม่ดี จะช่วยให้เราทำการกระทำนั้นๆ ลดลง หรือหยุดทำได้ในที่สุด
- ให้รางวัลสำหรับชีวิตที่มีวันัยบ้าง
ชีวิตที่เข้มงวดเกินไป แข็งตึงเกินไป เกินกว่าภาวะปกติของตัวเอง
จะทำให้การสร้างวินัยของเราเป็นงานที่เหนื่อยและยุ่งยาก ดังนั้นสำหรับใครก็ตามที่มีแนวโน้ม วินัยทางการเงินอ่อนแอ ก็ควรที่จะหมั่นให้รางวัลกับการมีวินัยทางการเงินบ้าง เช่น เมื่อสามารถมีวินัยในการเก็บเงิน หรือการใช้เงินมาสัก 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ควรที่จะให้รางวัลกับตัวเอง ด้วยการหาความบันเทิง หรือความสุขจากเงินเล็กๆ น้อยๆ ใส่ตัวด้วยการผ่อนการมีวินัยลงบ้าง (แต่ต้องไม่แสวงหาความสุขจนเกินไปแล้วทำให้เกิดภาวะการมีวินัยทางการเงินหย่อนยานขึ้นเด็ดขาด)
- ออกห่างจากกิเลสทั้งปวง
การพาตัวเองเข้าใกล้กิเลสแห่งการใช้เงินทั้งหลาย นอกจากจะบั่นทอนวินัยทางการเงินของเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตแล้ว ยังเสียงต่อความล้มเหลวในการจัดการการเงินในภาวะปกติด้วย ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การนำตัวออกห่างจากกิเลสทั้งปวง เช่น ไม่ผ่านไปยังห้างสรรพสินค้าในช่วงเทศกาลลดราคา ลดการเข้าร่วมวงสนทนาที่มีแนวโน้มเชิญชวนให้ซื้อ ซื้อ ซื้อ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เช่น การพนัน วงสังสรรค์ที่เน้นการดื่มกิน ที่มีความถี่มาก และใช้ค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็น
แนวทางทั้ง 6 คงไม่สามารถนำไปใช้ได้ดีกับทุกคน ในการสร้างวินัยทางการเงิน เพราะความต้องการภายในของแต่ละคนมีที่มาที่ต่างกัน มีแรงขับและแรงผลักที่แตกต่างกัน กิเลสของคนหนึ่งไม่ใช่กิเลสของอีกคนหนึ่ง ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป และเหตุผลของการนำเสนอทางออกที่บทความนี้ได้พยายามสื่อให้กับทุกคน จะทำให้สุดท้ายแล้ว ผู้อ่านที่มีความตั้งใจจะมีวินัยทางการเงินจริงๆ จะสามารถพาตัวเองไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ง่ายกว่าที่เคย
ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=530&type=article