ออมเงิน "เรื่องง่ายๆ ใครก็ทำได้"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“เงิน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการดำรงชีวิต ดังนั้น ถ้าไม่รู้จักวางแผน “เงิน” มักจะสร้างปัญหาให้กับคนๆ นั้นได้ และหลายคนก็มักหาทางออกด้วยการไปกู้หนี้ยืมสิน และเมื่อกู้ยืมไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์อาจจบลงด้วยคำว่า ล้มละลาย
ดังนั้น จุดเริ่มต้นการหลุดพ้นความเป็นหนี้ หนีไม่พ้นการ “ออมเงิน” หมายความว่า เมื่อเงินเดือนออก ควรนำไปเก็บออมเป็นอันดับแรก และถ้าออมเงินอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้ไม่ต้องไปกู้ยืม ผลที่ตามมา คือ ความมั่นคงทางการเงิน และนี่คือหัวใจสำคัญของการออม
ออมก่อนจ่าย
เมื่อเงินเดือนออก ถ้านำไปใช้จ่ายเป็นเรื่องแรก อาจไม่มีเงินเหลือ ดังนั้น หากต้องการมีเงินเก็บ ต้องใช้สูตร
เงินเดือน – เงินออม เหลือเท่าไหร่ค่อยนำไปใช้จ่าย
หมายความว่า เมื่อเงินเดือนออก เงินก้อนแรกต้องนำไปเก็บออม ที่สำคัญควรทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ออมเงินเดือนละครั้ง ซึ่งวิธีที่สะดวกและกันหลงลืม คือ ตัดเงินไปออมโดยอัตโนมัติ เรียกว่าวิธี Dollar Cost Averaging (DCA) โดยตระหนักว่าการออมเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติ เพื่ออนาคตทางการเงินที่ดี
การออมเงินอย่างเป็นระบบ
การออมเงิน ควรแบ่งตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น
- เป้าหมายสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉิน
เป็นการเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หากเกิดการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น เจ็บป่วยและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ตกงาน เป็นต้น โดยเงินออมนี้ควรมีจำนวนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยให้เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เพราะเบิกถอนได้คล่องตัว
- เป้าหมายการลงทุน
เป็นเงินออมที่มีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายอิสรภาพทางการเงิน โดยแต่ละเดือนควรกันเงินไปลงทุนอย่างน้อยๆ 15% ของเงินเดือน จากนั้นก็จัดสรรไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่จำเป็นของชีวิต เช่น
-เพื่อหลักประกันชีวิต โดยแบ่งเงินไปซื้อประกันชีวิตให้เหมาะสมกับตัวเอง
-เพื่อก่อให้เกิดรายได้ประจำ โดยแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ทองคำ เป็นต้น
-เพื่อการเกษียณอายุ โดยแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น กองทุน SSF และ RMF
- เป้าหมายสานฝันให้เป็นจริง
เป็นเงินออมเพื่อเตรียมไว้ซื้อสินทรัพย์เพื่อสร้างฐานะ สร้างครอบครัว หรือสร้างสุขให้กับตัวเองและคนที่รัก เช่น ซื้อบ้าน การศึกษาของลูก การเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น โดยสัดส่วนการออมมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงินเดือนและเป้าหมายของแต่ละคน เช่น 5% หรือ 10% ของเงินเดือน
ถ้าต้องการมีเงินออมมากขึ้น ก็ต้องลดรายจ่าย จากนั้นก็นำเงินไปเก็บออม และลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผล ที่สำคัญหากมีวินัยด้วยการออมอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มต้นออมตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต