4 สิ่งต้องทำ ยุคไร้เงินสด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จากผลสำรวจของ “วีซ่า” ล่าสุดพบว่า คนไทยมีแนวโน้มการใช้จ่ายโดยไม่สัมผัสเงินสด หรือ cashless สูงขึ้น โดยมีถึง 30%ของผู้ที่ถูกสำรวจ สามารถใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ต้องสัมผัสเงินสดได้นานกว่า 1 สัปดาห์ มี 69% บอกว่า cashless สะดวกสบาย และมี 56% ที่มองว่า cashless ช่วยในการวางแผนการเงิน
อย่างไรก็ตาม การใช้ cashless ด้วย Mobile Application และ e-Wallet ต่างๆ ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดและมีความปลอดภัย มีสิ่งที่ควรทำ ดังนี้
เลือกบัญชี/บัตรที่ผูก e-Wallet
เริ่มจากเช็กโปรโมชัน เช่น ผูกบัตรเครดิตหรือบัญชีเงินฝากไหน ที่ได้รับเงินคืนหรือส่วนลดสูงสุด ซึ่งหากชีวิตประจำวันมีการใช้จ่ายตรงกับโปรโมชันที่ว่า ก็ถือเป็นตัวช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ดี
อีกสิ่งที่ต้องระวัง คือ วงเงินการใช้จ่าย เพราะ cashless ยังมีความเสี่ยงทั้งจากการโจรกรรมออนไลน์รวมถึงการใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้นควรเลือกผูกบัตรเครดิตที่มีวงเงินไม่สูงนักหรือมีการแจ้งเตือนทุกการใช้จ่าย ส่วนบัญชีเงินฝากที่ผูกควรมีไว้เพื่อธุรกรรมออนไลน์โดยเฉพาะ และมีเงินในบัญชีเพียงพอกับการใช้จ่ายใน 1 เดือนเท่านั้น
กันเงินไว้ใช้จ่าย
Cashless แม้สะดวกสบายแต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่จะใช้จ่ายเกินตัว การแยกบัญชีเงินฝากเพื่อใช้จ่ายประจำวันโดยเฉพาะ โดยใส่เงินในบัญชีทุกต้นเดือนเท่ากับ Budget ต่อเดือนที่ตั้งไว้ และค่อยทยอยถอนหรือโอนไปใช้จ่าย ก็ช่วยให้เรารู้ว่าในแต่ละวันเหลือเงินเท่าไร เพียงพอใช้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่
ยิ่งใช้ Mobile Banking ที่มีบริการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร นอกจากช่วยให้การใช้จ่ายสะดวกยิ่งขึ้นและไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างธนาคารแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีบัตร ATM/Debit อีกด้วย
กันเงินทุกครั้งที่ใช้บัตร
การใช้บัตรเครดิตไม่ว่ารูดบัตรหรือผ่าน Wallet ที่ผูกไว้ คือ การยืมเงินจากธนาคารมาใช้ หากถึงกำหนดไม่นำเงินไปจ่ายเต็มจำนวนก็จะเสียดอกเบี้ยเป็นรายวัน
ดังนั้นควรมีบัญชีเงินฝากเพื่อพักเงินไว้รอจ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะ และกันเงินส่วนที่ใช้บัตรไปทุกครั้งจากบัญชีใช้จ่ายมาเก็บในบัญชีนี้ เพื่อนอกจากป้องการเป็นหนี้แล้ว ยอดเงินในบัญชียังเป็นสิ่งย้ำเตือนการใช้บัตรเครดิตที่ผ่านมาด้วย
เลือกพักเงินในบัญชีดอกเบี้ยสูง
การพักเงินไม่ว่าเพื่อกันไว้ใช้จ่ายประจำวันหรือจ่ายบัตรเครดิต ควรเลือกแหล่งที่ให้ดอกเบี้ยสูง อย่างบัญชี e-Savings ที่ดอกเบี้ยสูงประมาณ 1.2%-1.5%ต่อปี ซึ่งสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไปที่ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยเพียง 0.25%ต่อปีเท่านั้น (ข้อมูล ณ 1 กรกฎาคม 2563)
ถึงเรื่องดอกเบี้ยอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากลองคำนวณที่ยอดพักเงินเฉลี่ย 10,000 บาท ส่วนต่างดอกเบี้ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 95-125 บาท ซึ่งพอๆ กับอาหาร fast food หนึ่งมื้อ หรือหากมีการใช้จ่ายสูงขึ้น เช่น 50,000 บาท ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ได้ เพียงพอให้ไปกินบุฟเฟ่ต์ได้เลย
สังคมไร้เงินสด ใกล้ตัวกว่าที่คิด ควรใช้ทางเลือกที่ถูก หมั่นอัพเดทข้อมูลผลิตภัณฑ์ บริการ และโปรโมชัน เพื่อให้เงินทุกบาทไม่นอนอยู่นิ่ง ออกมาวิ่งให้งอกเงย