4 เหตุผล ของคนไม่เก็บเงิน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ใครๆ ก็รู้ว่า “เก็บเงิน” ก็เหมือนออกกำลังกายที่ยิ่งทำยิ่งดี แค่ว่ายังไม่เริ่มทำเท่านั้นเอง ซึ่งเหตุผลฮิตของคนส่วนใหญ่ คงไม่พ้น 4 เหตุผล ต่อไปนี้
รายได้ยังน้อยอยู่
เป็นเหตุผลฮิตของคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และรู้สึกว่าเงินเดือนยังน้อยอยู่ เช่น 15,000 – 20,000 บาท แค่ค่ากิน ค่าอยู่ ก็ไม่พอใช้แล้ว จะมีเงินที่ไหนเหลือไปเก็บได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในตัวเมืองที่ค่าครองชีพสูง
แต่ด้วยทำเลการทำงานในตัวเมืองเหมือนกัน ยังมีคนอีกมากที่รายได้น้อยกว่าเรา เช่น พนักงานค่าแรงขั้นต่ำหรือพนักงานร้านค้าร้านอาหาร ที่รายได้อาจแค่เดือนละ 9,000 – 11,000 บาทเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ฯลฯ ของคนกลุ่มอาจน้อยกว่าเรา แต่สำหรับค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ หากควบคุมดีๆ ก็คงไม่ต่างกันมากนัก
ภาระรายจ่ายเยอะ
เป็นเหตุผลฮิตของคนที่ทำงานได้สักพัก เริ่มมีผ่อนหนี้สิน มีบุตรหรือพ่อแม่สูงอายุต้องเลี้ยงดู
หากเป็นรายจ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น ส่งเงินให้ทางบ้าน ต้องแบ่งเบาค่าใช้จ่ายครอบครัว หรือจ่ายค่าเทอมค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ก็ควรประเมินและตั้ง Budget ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เหมาะสมกับรายได้ของตนเอง
แต่หากเป็นรายจ่ายจากความต้องการตนเอง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ หรือแพ็กเกจรายเดือนต่างๆ ฯลฯ ก็ต้องคิดให้ดีก่อนสร้างภาระผูกพัน หรือหากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องพยายามควบคุมรายจ่ายอื่นๆ แทน
ยังไม่พร้อมเก็บเงิน
เป็นเหตุผลฮิตของแทบทุกคนที่ยังไม่เริ่มเก็บ หากลองจินตนาการย้อนไปสมัยวัยเรียน เคยมีการสอบปลายภาคครั้งไหนที่เราอ่านหนังสือจนมั่นใจว่าพร้อมเข้าสอบบ้าง… ส่วนใหญ่คงตอบว่าไม่มีหรอก! แค่ทุกครั้งเราได้เริ่มเปิดหนังสืออ่านเท่านั้น แต่ทุกคนก็ผ่านพ้นกันมาได้
การเก็บเงินก็เช่นกัน ขอแค่เริ่มต้นโดยแยกบัญชีเงินเก็บออกจากบัญชีเงินเดือนและทำการตั้งโอนอัตโนมัติบน Mobile Banking จากบัญชีเงินเดือนไปยังบัญชีเงินเก็บ โดยอาจเริ่มต้นน้อยๆ ก่อน เช่น 10%ของเงินเดือนก็ได้
ยิ่งปัจจุบันเราสามารถเปิดบัญชีใหม่บน Mobile Banking ของธนาคารที่ใช้อยู่ได้ หรือหากเป็นธนาคารที่ไม่เคยมีบัญชีมาก่อนก็เปิดบัญชีผ่านสิ่งที่เรียกว่า National Digital ID (NDID) ได้เช่นกัน
เก็บเงินไม่เคยอยู่
เป็นเหตุผลฮิตของคนชอบชอปปิง ที่แพ้ป้าย Sale และโปรโมชันต่างๆ จนอาจถึงขั้นต้องลุ้นทุกครั้งที่ของมาส่ง ว่าของนั้นคืออะไร เพราะแม้แต่ตนเองก็ยังจำไม่ได้ว่าซื้ออะไรไปบ้าง
ดังนั้นควรเริ่มต้นที่ควบคุมการชอปปิง ด้วยการจดของที่อยากได้ทุกครั้งใน note บนมือถือพร้อมสาเหตุที่อยากได้ และทุกครั้งที่เห็นโปรโมชันก็หยิบ note ขึ้นมาเช็กว่ามีของที่ตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงต่อให้ราคาถูกแค่ไหนก็ไม่ควรซื้อ เพราะซื้อมาก็อาจไม่ได้ใช้ ซึ่งไม่ต่างกับการทำเงินนั้นหล่นหายออกจากกระเป๋า
เก็บเงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยากตรงที่ตอนเริ่มต้น… ขอเพียงได้ลองเริ่มทำ ต่อไปก็จะเป็นเรื่องธรรมดาในการเก็บเงินทุกๆ เดือน