4 เหตุผลที่ควรซื้อ “กองทุนรวม”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“กองทุนรวม” ทางเลือกการลงทุนที่เริ่มต้นได้แสนง่าย ทำได้ทันที และเหมาะกับการเริ่มต้นของคนไม่เคยลงทุน ด้วย 4 เหตุผล ด้วยกัน
ใช้เงินลงทุนน้อย
หลายๆ บลจ. กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500-1,000 บาท หรือบางแห่งไม่กำหนดขั้นต่ำไว้ก็มี ดังนั้นแค่เปลี่ยนเงินค่าตั๋วหนังหรืออาหารในห้างฯ สักมื้อ มาเป็นเงินตั้งต้นก็สามารถเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมได้แล้ว
และเมื่อเงินลงทุนยิ่งน้อย ก็ยิ่งสามารถลงทุนกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพราะแม้ขาดทุนก็เสมือนซื้อตั๋วหนังแต่ไปดูไม่ทัน หรือเปลี่ยนจากกินอาหารห้างฯ ไปกินข้าวราดแกงข้างออฟฟิศเท่านั้น แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น และเป็นการเริ่มต้นทำความรู้จักการลงทุนได้แบบหนึ่ง
โอกาสเจ็บตัว น้อยกว่าลงทุนเอง
การลงทุนหุ้นโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ มักมีขั้นต่ำครั้งละ 100 หุ้น เช่น หุ้นละ 50 บาท ต้องลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท ดังนั้นด้วยเงินหลักร้อยหรือพันบาทอาจลงทุนหุ้นได้เพียง 1 บริษัทเท่านั้น ซึ่งหากบริษัทนั้นได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บางอย่าง เงินลงทุนนั้นก็อาจขาดทุนได้ไม่น้อย
แต่ด้วยเงินที่เท่ากันสามารถลงทุนได้หลายบริษัทในหลายอุตสาหกรรม เช่น ลงทุนทั้งหุ้นบริษัทท่องเที่ยวและหุ้นบริษัทจำหน่ายอาหาร ในช่วงที่ชาวต่างชาติไม่เข้ามาเที่ยวในไทยหุ้นท่องเที่ยวอาจขาดทุนสูง ในขณะที่หุ้นอาหารอาจยังกำไรเพราะคนทั่วไปยังจำเป็นต้องซื้ออาหาร ทำให้เงินลงทุนโดยรวมอาจยังกำไรหรือขาดทุนน้อยกว่าการลงทุนหุ้นบริษัทท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
กองทุนหุ้น แม้ลงทุนด้วยเงินหลักร้อย แต่เงินจะถูกกระจายลงทุนหุ้นหลายๆ บริษัทตามนโยบายที่กำหนด ทำให้กองทุนหุ้นมักมีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อหุ้นโดยตรง เพราะมีการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง
ไม่ต้องตามบ่อย มีคนดูให้
กองทุนรวม มีผู้จัดการกองทุนหรือทีมงานที่คอยติดตามสิ่งที่ลงทุนไป เช่น “กองทุนหุ้น” หากหุ้นที่ลงทุนมีแนวโน้มไม่ดี ผู้จัดการกองทุนอาจเปลี่ยนไปลงทุนหุ้นอื่นแทน เช่น เปลี่ยนจากหุ้นท่องเที่ยวไปหุ้นอาหาร เป็นต้น
หรือ “กองทุนผสมยืดหยุ่น” มักมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินลงทุนในทางเลือกต่างๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ลงทุน เช่น ในช่วงที่หุ้นไทยไม่น่าลงทุน อาจลดการลงทุนหุ้นไทยและเปลี่ยนไปเพิ่มตราสารหนี้ หรืออาจลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนหรือเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยเราไม่ต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง
ทางเลือกหลากหลาย
ไม่ว่าจะเลือกตาม (a) “สินทรัพย์ที่ลงทุน” เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ หรือผสมกันหลายสินทรัพย์ ฯลฯ ตามความเสี่ยง วัตถุประสงค์ และความชื่นชอบของแต่ละคน
(b) “เงินปันผล” หรือ “ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ” ที่ช่วยให้เราได้รับผลตอบแทนในรูปเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากในช่วงที่กองทุนนั้นกำไร โดยไม่ต้องจับจังหวะทำกำไรด้วยตนเอง
(c) “ลดหย่อนภาษี” ได้แก่ กองทุน SSF กองทุน RMF ที่มี “สินทรัพย์ที่ลงทุน” หลากหลายเหมือนกองทุนทั่วไป และสำหรับกองทุน SSF ยังสามารถเลือกนโยบายการจ่าย “เงินปันผล” ได้อีกด้วย แต่ก่อนลงทุนต้องมั่นใจว่าเราเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของกองทุนเหล่านี้ด้วย
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่หากค่อยๆ เริ่มด้วยเงินน้อยๆ และค่อยๆ เรียนรู้ผ่านกองทุนรวม การลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะเริ่มต้นอีกต่อไป