เทคนิคบริหารเงินหลังเกษียณ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หลังเกษียณว่ากันว่ามีกฏ 2 ข้อสำหรับการวางแผนเกษียณที่มีประสิทธิภาพ ข้อแรก อย่าทำให้เงินหมด ข้อสองคือ อย่าลืมกฎข้อแรก แต่ในคำพูดติดตลกนี้ ความจริงทำได้ยากเพราะชีวิตหลังเกษียณ หากไม่มีรายได้เพิ่มและเก็บเงินให้อยู่ เงินก้อนที่สะสมไว้ย่อมหมดลงได้
จากนั้นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเงินต่อด้วย แต่จะแตกต่างไปจากการออมเงินในช่วงก่อนวัยเกษียณ โดยเน้นเป็นพอร์ตการลงทุนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ ลงทุนผ่านกองทุนรวมทั้งหมด ด้วยการจัดสรรเงินหลังเกษียณไปแล้วออกเป็น 3 ก้อน
เงินก้อนแรก
ให้จัดสรรเงินไว้ใช้สำหรับช่วง 3 ปีแรกหลังเกษียณ สมมติว่ามีเป้าหมายจะใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 15,000 บาท แสดงว่า 3 ปีแรก (36 เดือน) จะต้องใช้เงิน 540,000 บาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องนำไปออมไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง โดยให้นำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือไม่ก็ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
ก้อนที่สอง
ให้จัดสรรเงินไว้ใช้ในช่วงปีที่ 4-10 โดยให้นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับต่ำ ถึงปานกลาง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล
ก้อนที่สาม
ให้จัดสรรเงินไว้ใช้ตั้งแต่ปีที่ 11 หลังเกษียณเป็นต้นไป โดยให้นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงระดับสูงได้ เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อมีแผนเก็บเงินแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาหนีไม่พ้นการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้มีเงินใช้ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ
หลายคนออมเงินมาทั้งชีวิตเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่พอถึงเวลากลับใช้เงินไม่เป็น ทำให้เงินหดหายลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นวิธีการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพหลังเกษียณอย่างง่ายๆ คือ ให้แบ่งเงินที่ออมไว้ออกเป็น 3 ส่วน
- เงินดำรงชีพ
เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก โดยจะต้องกันเงินเอาไว้ใช้สำหรับเพื่อดำรงชีพประจำวัน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดและทุกคนทำได้ ก็คือ การจดรายจ่ายว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าคนรับใช้ โดยเงินก้อนนี้จะต้องใช้ตามที่วางแผนเอาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ
- เงินรักษาสุขภาพ
เป็นส่วนสำคัญไม่ต่างไปจากเงินดำรงชีพ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะเกิดเจ็บป่วย ต้องเข้าทำการรักษา เพราะเป็นที่รู้ๆ กันว่าคนที่มีอายุ เวลาเจ็บป่วยแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินรักษาสูง ดังนั้นห้ามนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ
- เงินเพื่อกิจกรรมอื่นๆ
เป็นเงินก้อนที่สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น เพื่อการท่องเที่ยว บันเทิง บริจาค หรือกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ถ้าเดือนไหนไม่ได้ใช้ก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ เช่น วางแผนว่าจะไปท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ไปก็สามารถเก็บเงินก้อนนี้ไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นอื่นๆ ได้
ดังนั้น การวางแผนการเงินหลังเกษียณไปแล้วมีความสำคัญไม่แพ้ก่อนวัยเกษียณ เพราะจะทำให้มีเงินใช้อย่างพอเพียงไปตลอดชีวิต