3 ส่วนที่ "ทุนประกันชีวิต" ควรครอบคลุม
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จุดเด่นของประกันชีวิต คือเป็นหลักประกันที่สร้างเงินก้อนให้คนข้างหลัง หากเราจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ยิ่งเป็นผู้หารายได้หลักให้ครอบครัวแล้ว ยิ่งถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
แต่ความคุ้มครองชีวิตที่สูงเกินไป จะมีค่าเบี้ยประกันที่สูงตาม ดังนั้นจึงควรมีในระดับที่เหมาะสมโดยควรครอบคลุม 3 ส่วน ดังนี้
หนี้สินทั้งหมดที่มี
หนี้สินบ้าน หนี้สินรถ และหนี้สินธุรกิจ ล้วนเป็นหนี้สินก้อนโตหลักล้านบาท หากหนี้เหล่านี้ตกไปสู่คนข้างหลังยามเราจากไป ก็จะเป็นภาระที่หนักอึ้งด้วยยอดผ่อนที่พวกเขาต้องจ่ายแทนเรา
แม้ตอนขอกู้หนี้บ้านหรือหนี้ธุรกิจ ธนาคารมักเสนอ ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สิน ที่นอกจากมีเงินก้อนไปปิดหนี้แทนโดยอัตโนมัติหากเราเสียชีวิตหรือทุพพลภาพแล้ว เบี้ยประกันนั้นยังไม่จำเป็นต้องควักเงินไปจ่ายทันทีแต่สามารถทยอยผ่อนชำระกับธนาคารพร้อมกับหนี้บ้านหรือหนี้ธุรกิจได้ แต่คนส่วนใหญ่มักเลือกไม่ทำประกันที่ว่า คนข้างหลังจึงยังต้องแบกรับความเสี่ยงนี้อยู่
ค่าใช้จ่ายช่วงปรับตัว
เมื่อขาดเสาหลัก คนข้างหลังไม่เพียงได้รับผลกระทบทางจิตใจเท่านั้น ยังได้รับผลกระทบด้านการเงินอีกด้วย แม้บางครอบครัวสามีภรรยาร่วมกันหารายได้แต่หากขาดใครไปรายได้ของคนที่เหลือเพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของครอบครัว ยิ่งบางครอบครัวมีผู้หารายได้หลักคนเดียว ก็ยิ่งควรมีเงินก้อนจากทุนประกันชีวิต
ซึ่งเงินก้อนที่ว่าควรมีให้ครอบครัวได้ใช้จ่ายไปอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้คู่ชีวิตได้มีเวลาปรับตัวในหารายได้มาชดเชยส่วนของเสาหลักที่ขาดไป เช่น หางานใหม่ ตั้งต้นทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญของครอบครัว
เช่น เป็นทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายให้ลูกจนจบปริญญา เพื่อเป็นหลักประกันอนาคตการศึกษาและสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวแทนพ่อหรือแม่ได้หลังเรียนจบ
หรือ เป็นเงินทุนให้ธุรกิจครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินอยู่ได้หลังผู้ดำเนินงานหลักจากไป ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ซัพพลายเออร์กังวลเรื่องการเรียกเก็บเงิน หรือลูกค้าอาจกังวลเรื่องคุณภาพสินค้าและบริการ เป็นต้น
รวมถึงเพื่อเป็นเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงที่ครอบครัวยังไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเราได้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการจัดสรรมรดกหรือการเปลี่ยนผู้มีอำนาจลงนามของธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากความคุ้มครองชีวิตแล้ว การเลือกแบบประกันที่มีค่าเบี้ยเหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น (a) ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ที่เบี้ยประกันรายปีต่ำมาก แต่เมื่อครบสัญญาจะไม่ได้รับเงินคืนใดๆ (b) ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ที่เบี้ยประกันรายปีสูงขึ้นมาบ้าง แต่หลังชำระเบี้ยครบไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5-10 ปี หากยกเลิกมักได้รับเงินตามมูลค่าเวนคืน ที่อาจพอๆ กับค่าเบี้ยประกันรวมที่ได้จ่ายไป
เลือกความคุ้มครองชีวิตให้พอดีกับความจำเป็นและแบบประกันที่เหมาะสม ก็ช่วยให้ครอบครัวมีหลักประกันที่มั่นคงด้วยต้นทุนที่ไม่แพงจนเกินไป