วิธีแก้ไข เมื่อแผนเกษียณพลาด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” สุภาษิตที่ได้ยินกันมานาน แต่ความประมาทก็เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ คำถาม คือ เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วลงมือรีบแก้ไข ก็จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
การวางแผนการเงินเพื่อเกษียณที่ดี หนีไม่พ้นการจัดสรรเงินทุกๆ ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แต่การกระจายเงินลงทุนนั้นก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่ามีความเหมาะสมกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนบ้าง ซึ่งวิธีการดูว่าตัวเองเหมาะกับการลงทุนแบบไหนนั้น เช่น ดูจากระดับความเสี่ยงว่ารับได้แค่ไหน อายุ สภาพคล่องทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการเตรียมตัวเพื่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณมาดี แต่ก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาด สิ่งสำคัญคือ ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง เพราะหากปล่อยเอาไว้อาจทำให้การวางแผนการเงินไม่บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้
และนี่คือวิธีการแก้ไขเมื่อการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเกิดความผิดพลาด
กลัวไม่พอและกล้าจนเกินไป
บางคนกลัวว่าหากนำลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงๆ จึงเน้นฝากออมทรัพย์ ผลลัพธ์อาจทำให้มีเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณ
ขณะที่อีกคน มีความกล้าจนเกินไปด้วยการเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงๆ ในจังหวะที่ไม่เหมาะสม เช่นกันมีเงินลงทุนน้อยแต่กลัวว่าหลังเกษียณจะมีเงินไม่เพียงพอ จึงเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ซึ่งมีโอกาสขาดทุนสูงตามไปด้วย
- วิธีแก้ไข
จะต้องทำความเข้าใจกับการลงทุนว่าทุกอย่างมีความเสี่ยง ดังนั้น หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ต้องยอมรับผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย และต้องทำใจว่าเมื่อถึงวัยเกษียณ เงินอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจได้รับผลตอบแทนสูง แต่มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน
ดังนั้น ทางออกที่น่าสนใจ คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA) เป็นวิธีการที่เหมาะสมในการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งการเก็บเงินทุกเดือน เป็นการเก็บหอมรอมริบวันละเล็ก ละน้อย จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การวางแผนการเงินได้อย่างน่าประทับใจ
หวั่นไหวรายวัน
ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากการไม่ทำตามวัตถุประสงค์ของการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณที่วางเอาไว้ คือ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก็มีความหวั่นไหวในสถานการณ์ต่างๆ จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนการลงทุน เช่น ย้ายพอร์ตลงทุน
- วิธีแก้ไข
พอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณควรสำรวจดูอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรปรับเปลี่ยนบ่อย แต่ควรปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนก็ต่อเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็ต้องปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับอายุและความเสี่ยง
กระจายการลงทุนมากเกินไป
เช่น ลงทุนในกองทุนรวมกับ บลจ. จำนวนมากเกินไป บางคนลงทุนมากกว่า 10 บลจ. จนไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือบางคนซื้อกองทุนหุ้นมากกว่า 15 กอง
- วิธีแก้ไข
ถึงแม้การกระจายการลงทุนเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่ามีมากจนเกินไปและที่สำคัญต้องจดรายละเอียดเอาไว้อย่างสม่ำเสมอว่าตัวเองลงทุนไว้ในสินทรัพย์อะไรบ้าง ลงทุนเมื่อไหร่ จำนวนเงินเท่าไหร่ และควรลงทุนกับ บลจ. ไม่มากจนเกินไป เช่น 2 – 3 แห่ง หรือซื้อกองทุนรวมประเภทเดียวกันไม่มากเกินไป เช่น กองทุนหุ้น 2 – 3 กอง น่าจะเพียงพอแล้ว