อย่าเสี่ยงกับใบกำกับภาษีปลอม
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
กระทู้ที่น่าสนใจจากเว็บ pantip.com บอกให้เห็นผลเสียของการโกงภาษี ซึ่งสรรพากรเอาจริงกับผู้ที่กระทำผิด ดังนั้นอย่าโกงภาษีดีที่สุด แต่แค่ไม่โกงคงไม่พอ เพราะเราอาจพลาดโดยสุจริตได้ ดังนั้นเราก็ควรรู้เกี่ยวกับใบกำกับภาษีปลอม และโทษต่างๆ ไว้เพื่อป้องกันตนเองด้วย เช่น
ใบกำกับภาษีแบบไหนที่เรียกว่าปลอม ?
ใบกำกับภาษีปลอม หมายถึง ใบกำกับภาษีที่กระทำขึ้นโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกใบกำกับภาษีนั้น โดยชอบด้วยกฎหมาย และกระทำไปในทางทุจริต หลีกเลี่ยงภาษีอากร และอีกกรณีก็คือ ใบกำกับภาษีที่ผู้ใช้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี สรรพากรถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ใช้ใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีปลอม ออกได้อย่างไรบ้าง ?
1.ปลอมใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการค้าที่ค้าขายปกติ
2.ผู้ประกอบการที่มีการขายจริง แต่ขายใบกำกับภาษีที่เหลือ
3.จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท/ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อออกใบกำกับภาษี ขายให้ผู้ใช้ทั่วไป
4.จัดตั้งบริษัท/ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อออกใบกำกับภาษีให้บริษัทในเครือโดยเฉพาะ
สรรพากรสังเกตใบกำกับภาษีปลอมอย่างไร ?
1.ประเภทสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น วัสดุก่อสร้าง, ผ้า, พลาสติก, กระดาษ, เคมีภัณฑ์, เพชรพลอย
2.สินค้าที่ซื้อไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ
3.ซื้อจากสถานที่ที่ไม่น่าจะซื้อ
4.ใบกำกับภาษีมูลค่าสูง, ราคาสินค้าหรือบริการไม่น่าเชื่อถือ, เขียนด้วยลายมือ, จ่ายชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด
5.ซื้อจากผู้ประกอบการรายเดียว ในวันที่ติดๆ กัน หรือใกล้กัน
6.ใบกำกับภาษีซื้อที่มีการนำมาใช้ในช่วงปลายเดือน ปลายปี
7.ใบกำกับภาษีที่ไม่พิมพ์ “เล่มที่”
8.แบบฟอร์มใบกำกับภาษีคล้ายกันหรือลายมือที่เขียนคล้ายกันแต่ชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีต่างกัน
9.วิธีการซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อจาก Supplier โดยตรง แต่ซื้อจากเซลล์หรือพนักงานขายสินค้า
ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง และ ทางอาญา ดังนี้
ทางแพ่ง :
1.เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้หรือใบลดหนี้
2.เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย นอกจากนั้น จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้
ทางอาญา จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับ 2,000 – 200,000 บาท
ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ศาลอาญาตัดสินจำคุกผู้กระทำผิดออกใบกำกับภาษีขาย โดยไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง 8 ฉบับ รวม 8 กระทง ๆละ 1 ปี เป็นโทษจำคุก 8 ปี
ผู้ซื้อใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง และ ทางอาญา
ทางแพ่ง :
1.เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี(มาตรา 89(7))
2.เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีไว้เกิน ตามมาตรา89(4) และเสียภาษีไว้คลาดเคลื่อน ตามมาตรา89(3)
3.เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี
ทางอาญา : จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับ 2,000 – 200,000 บาท
ไม่ว่าจะคิดโกง หรืออาจพลาดโดยสุจริต ในการได้ใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ ก็อาจทำมาสู่บทลงโทษทางกฎหมายที่ไม่มีใครอยากจะเจอทั้งนั้น ดังนั้นอย่าเสี่ยงกับใบกำกับภาษีปลอมจะดีที่สุด