ลดดอกเบี้ย…แล้วไง?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันนี้ (7 ส.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 % ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตอนนี้อยู่ที่ 1.50 % นับเป็นการหักปากกาเซียนของบรรดานักเศรษฐศาตร์ที่ต่างออกมาฟันธงว่า กนง.จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมเพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น
ถามว่าทำไม กนง. ถึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 0.25 %
ก็เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะจากภาคการส่งออกที่หดตัว ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีแรกติดลบไปแล้ว 2.9 % ซึ่งเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ยิ่งล่าสุดประเด็นสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น เพราะประธานาธิบดีโดนัลทรัมปท์ ออกมาประกาศแล้วว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้าจากจีน 10 % วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผล 1 กันยายนนี้ ขณะที่พี่จีนก็ตอบโต้กลับด้วยการ “กดหยวน” อ่อนค่าที่สุดรอบกว่า 10 ปี ที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ และเป็นการเข้ามาจัดการค่าเงินครั้งแรกรอบ 15 ปีของจีน เรื่องนี้จึงนำไปสู่ปัญหาสงครามค่าเงิน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก การส่งออกก็มีแนวโน้มที่จะติดลบมากขึ้น และ ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น
ปัจจัยลบในประเทศมีเยอะเหมือนกัน
- ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
- การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก
- รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
- ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ต้องบอกว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายโลกยังคงเป็นขาลง เพราะทางพี่ใหญ่อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ก็เพิ่งประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 0.25 % สู่ระดับ 2 -2.25 % ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี แม้ว่าหลายเสียงจะบอกว่าลดน้อยไปมั้ย….
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % ในวันนี้ เป็นเพียงเครื่องมือทางการเงินในการนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของไทย แต่สิ่งที่ทุกคนรอและหวังพึ่งพามากที่สุดก็คือเครื่องยนต์ที่มาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากภาครัฐ ทั้งเรื่องมาตรการที่จะออกมาบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และการฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน