×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 คำถามต้องตอบก่อน "ซื้อบ้าน"

5,284

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

หากใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ตอนนี้ ลองมองย้อนกลับไปในวันที่ไปดูบ้านตัวอย่าง คงรู้สึกตื่นเต้นที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ทีนี้ลองนึกถึงวันเซ็นสัญญากับแบงก์ อารมณ์มีทั้งตื่นเต้นและอีกใจหนึ่งก็หวั่น ๆ ว่าจะผ่อนไหวหรือเปล่า เพราะกำลังรับภาระหนี้ก้อนใหญ่ไปอีกหลายปี

 

ถ้าวางแผนการเงินมาดีคงไม่มีปัญหา แต่ถ้ารีบตัดสินใจซื้อบ้านขณะที่เตรียมเงินยังไม่ค่อยพร้อมอาจเกิดความเครียด และมีคำถามตามมาหลายข้อ แบงก์จะให้กู้เงินเท่าไหร่ เรามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะกู้เงินหรือเปล่า เงินดาวน์มีเพียงพอหรือไม่ จะผ่อนไหวได้นานแค่ไหน

 

แน่นอนว่าหนี้บ้านถือว่าเป็นหนี้ก้อนที่ใหญ่และต้องใช้เวลาในการผ่อนยาวนานมาก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านต้องมั่นใจว่ามีความพร้อมทางการเงิน เพื่อจะได้เกิดความสบายใจ

 

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า มีเงินพร้อมที่จะนำไปซื้อบ้าน” ในเบื้องต้นให้ตอบคำถาม 5 ข้อ ถ้าคำตอบว่า ใช่ ทุกข้อ แสดงว่ามีความพร้อมทางด้านการเงินที่จะมีบ้าน

 

มีรายได้มั่นคงหรือไม่?

 

ทุกวันนี้ ในวันที่ไปดูบ้านตัวอย่าง ก็จะมีเจ้าหน้าที่แบงก์คอยให้บริการข้อมูลด้านเงินกู้ และเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าลองยื่นเอกสารมาให้พิจารณาก่อน หรือเรียกว่า Pre approve ถ้าเราสนใจก็ต้องส่งเอกสารเพื่อประกอบการกู้เงิน และเอกสารสำคัญ 2 อย่างที่ต้องเตรียม คือ สำเนาสลิบเงินเดือน และสำเนาบัญชีออมทรัพย์เงินเดือนย้อนหลัง 3 – 6 เดือน

 

เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันในเบื้องต้นว่าผู้ที่กำลังขอกู้มีรายได้ประจำ เพราะเห็นความเคลื่อนไหวเงินเข้าและเงินออกของบัญชีออมทรัพย์เป็นประจำ ซึ่งจะสังเกตได้ว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นต้นมา แบงก์ได้เข้มงวดการปล่อยกู้เงินเพื่อซื้อบ้านมากขึ้น จึงขอหลักฐานและตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีกำลังในการผ่อน

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน ก็ต้องมั่นใจว่าจากนี้ยังมีรายได้ประจำที่มั่นคง แต่ถ้ารู้ว่าหน้าที่การงานหรือรายได้ไม่มั่นคง คงต้องชะลอแผนการมีบ้านออกไปก่อน

 

อยู่อาศัยระยะยาวหรือไม่?

 

ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านอย่ามองแค่เรื่องราคา ความสวยงามของบ้าน แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่าจะอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ในระยะยาวหรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แต่ถ้าตอบว่าไม่ใช่ ต้องคิดใหม่

 

เช่น ประเมินแล้วว่าอีก 2 ปีข้างหน้ามีโอกาสสูงที่จะย้ายไปทำงานที่ไกล ๆ หรือจังหวัดอื่น เพราะก็ต้องประกาศขายบ้าน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้วอาจไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายตอนซื้อ หรือกว่าจะขายบ้านได้อาจต้องใช้เวลา

 

ผ่อนชำระไหวหรือไม่?

 

ตามตำราการวางแผนการเงิน เราสามารถผ่อนหนี้ได้เดือนละประมาณ 40 – 45% ของรายได้ในแต่ละเดือน สมมติว่ามีเงินเดือน 35,000 บาท ผ่อนหนี้ในแต่ละเดือนได้ 14,000 – 15,750 บาท ส่วนเงินที่เหลือก็เก็บไว้ใช้จ่ายรวมถึงแบ่งไปเก็บออม

 

ดังนั้น ก็ต้องคำนวณว่าทุกวันนี้ต้องแบ่งเงินไปผ่อนหนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าถึงระดับ 40 – 45% ของรายได้แต่ละเดือนก็ต้องคิดทบทวนกับการมีหนี้ก้อนใหม่ แต่ถ้าคำนวณดูแล้วว่าถ้าต้องแบ่งเงินมาผ่อนบ้าน ยังผ่อนหนี้ได้สบายก็สามารถซื้อบ้านได้

 

มีเงินดาวน์หรือไม่?

 

ถ้าซื้อบ้านหลังแรก อาจมีเงินสดไม่เยอะก็ได้ มีแค่เตรียมไว้จ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็พอ หรือมีเงินสำหรับดาวน์ 5 – 20% ของราคาบ้าน ส่วนเงินที่เหลือก็ไปขอกู้จากแบงก์ แน่นอนหลายคนเลือกจ่ายดาวน์ไม่เยอะ แต่ข้อเสียคือ มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง ดังนั้น ก่อนซื้อบ้านควรเตรียมพร้อมเงินดาวน์ให้มากอย่างน้อย ๆ 20% หรือ 30% ของราคาบ้านที่จะซื้อ

 

สำหรับผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน ทาวเฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียม แต่คิดซื้อบ้านหลังที่สอง เงื่อนไขของแบงก์หลัก ๆ มี 2 ทางเลือก คือ ต้องหาเงินไปโปะหนี้หลังแรกให้หมดก่อนถึงจะปล่อยกู้ กับต้องดาวน์หลังที่สอง 10% ของราคาบ้าน ส่วนเงินที่เหลือแบงก์จะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้

 

มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินหรือไม่?

 

เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เป็นเงินที่เก็บเอาไว้ใช้ตอนที่เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันและต้องใช้เงินทันที ซึ่งทุกคนควรมีเงินก้อนหนึ่งเก็บเอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉินอย่างน้อย ๆ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอยู่แถวๆ 10,000 บาท เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินควรมี 30,000 – 60,000 บาท

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านต้องสำรวจว่าตัวเองมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหน เพราะสมมติว่าเกิดบ้านที่ซื้อไปแล้วมีเหตุจำเป็นต้องซ่อมแซมโดยด่วน เช่น หลังคารั่ว ก็มีสามารถถอนเงินมาซ่อมได้ทันที

 

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ จะมีโครงการบ้านจัดสรรออกแคมเปญ ลด แลก แจก แถมกันอย่างหนัก แถมภาครัฐออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าหนี้บ้านเป็นหนี้ก้อนที่ใหญ่ที่สุดและต้องใช้เวลาในการผ่อนยาวนาน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านต้องทบทวนและคำนวณรายได้ตัวเองให้ดี ๆ ว่ามีความพร้อมมากน้อยไหน

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats