5 เหตุผล ควรคงเงินและขอรับเป็นงวดจาก "PVD"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
การตัดสินใจเรื่องเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนเกษียณอายุ นอกจากการขอรับเป็นเงินก้อนทั้งจำนวน หรือการคงเงินไว้ในกองทุนเพื่อลงทุนต่อแล้ว “การคงเงินและขอรับเป็นงวด” ก็เป็นอีกวิธีหนี่งที่จะช่วยทำให้การบริหารจัดการเงินในช่วงวัยเกษียณเป็นเรื่องง่าย ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารเงิน
การคงเงินและรับเงินเป็นงวด คือ การถอนเงินออกมาใช้เพียงบางส่วนเป็นรายงวดตามแผนที่วางไว้ โดยสามารถเลือกที่จะถอนได้เป็นรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงิน โดยเงินส่วนที่เหลือยังคงอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนเดิม ซึ่งวิธีการนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับวิธีอื่นอยู่หลักๆ 5 ข้อ ดังนี้
ช่วยสร้างระเบียบวินัยในการใช้เงิน
การใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินไม่พอใช้ในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งการคงเงินและขอรับเป็นงวดจะช่วยสร้างระเบียบวินัยในการใช้เงินในรูปแบบคล้ายกับเงินบำนาญ ทำให้สามารถควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายได้ง่าย โอกาสที่จะใช้เงินเกินตัวก็มีน้อยลง
ทำให้การลงทุนมีความต่อเนื่อง
เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบอย่างมากสำหรับช่วงเวลาที่ยาวนานในช่วงเกษียณ เงินที่เตรียมไว้อาจไม่พอสำหรับใช้จ่าย เนื่องจากราคาสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้นทุกปี เงินส่วนที่เหลือจากการถอนรายงวดจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนต่อเนื่องไปตลอด โดยแผนการลงทุนควรเป็นแผนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ ระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นการรักษาเงินต้น จนไปถึงระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ เพื่อให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อในระยะยาว
มีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ลงทุนแทนเรา
การลงทุนให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีกระบวนการหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเลือกสินทรัพย์ การจัดพอร์ตการลงทุน การปรับกลยุทธ์ในระยะสั้น การควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสม ไปจนถึงการติดตามพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากเราไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ การตัดสินใจคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารเงินให้เหมือนเดิมจึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดี
ค่าธรรมเนียมต่ำ
ค่าธรรมเนียมสำหรับการคงเงินและขอรับเป็นงวดจะมี 3 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นค่าธรรมเนียมในการคงเงิน 500 บาท ครั้งเดียวในปีแรก ส่วนที่สองเป็นค่าธรรมเนียมในการถอนเงินงวดละ 100 บาท และส่วนที่สามเป็นค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการลงทุน ซึ่งจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทสินทรัพย์ลงทุน กลยุทธ์การลงทุน เป็นต้น โดยทั่วไปจะต่ำกว่าการนำเงินไปลงทุนเอง เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและบริษัทจัดการกองทุน
ผลตอบแทนยกเว้นภาษี
สินทรัพย์ลงทุนในช่วงวัยเกษียณส่วนใหญ่มักเป็นตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ภาครัฐหรือภาคเอกชน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนประเภทอื่น ซึ่งในปัจจุบันผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้จะต้องเสียภาษี 15% แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่ลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้การเลือกคงเงินและขอรับเป็นงวด จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า การถอนเงินออกมาแล้วนำไปลงทุนในตราสารหนี้เอง
สุดท้ายอยากจะฝากคำแนะนำสำหรับการบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวนมาก หรือมีเงินน้อยจากการออมที่ไม่เพียงพอในช่วงก่อนเกษียณ สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารเงินก็คือ “การบริหารจัดการเพื่อให้มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต” และมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณค่า มีคุณภาพชีวิต ไม่แตกต่างไปจากเดิมเมื่อก่อนเกษียณ ซึ่ง “การคงเงินและขอรับเป็นงวด” จะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยทำให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขตามแบบที่ตั้งใจไว้
ที่มาข้อมูล: https://www.tfpa.or.th/datasource.php?topic=document&sub=article&tab=personal&pageNumber=5&id=67