เปรียบเทียบตัวเลขสำคัญของ BCH, BDMS, BH, CHG และ SVH
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จากเชื้อไวรัส COVID-19 เริ่มมีสายพันธุ์ใหม่จนมีโอกาสบั่นทอนประสิทธิภาพวัคซีนหลักในประเทศ บวกกับความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน นำมาสู่ยอดจองซื้อวัคซีนทางเลือกของประชาชนล่วงหน้า ถือเป็นข่าวดีต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โดยเฉพาะโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมในระยะยาว
โดยทุกโรงพยาบาลได้รับอานิสงส์จากการระบาดรอบใหม่จากความต้องการบริการที่เกี่ยวข้องกับ COVID ทั้งการตรวจหาเชื้อ โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การตรวจทุกโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น BDMS (บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ) ที่มีการตรวจเฉลี่ย 4,000 – 5,000 รายต่อวันในไตรมาส 2 ปีนี้ เทียบกับไตรมาสแรกที่ตรวจเฉลี่ย 1,300 รายต่อวัน ซึ่งตัวเลขนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลของ BH (บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์) และ CHG (บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์)
ที่น่าจับตาจากนี้ไป คือ รายได้จากการให้บริการวัคซีนทางเลือก โดย Moderna จะมีรายได้ประมาณ 3,000 – 4,000 บาทต่อคน ซึ่งน่าจะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นประจำในอนาคต เพราะประชาชนทุกคนต้องมีการรับวัคซีนซ้ำทุกปี เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ จึงประเมินว่าจะเห็นผลประกอบการหุ้นโรงพยาบาลฟื้นตัวยกแผง
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้นกลุ่มโรงยาบาลต้องทำความรู้จักข้อมูลเบื้องต้นก่อน เช่น ประเภทของธุรกิจ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มบริการ (โรงพยาบาลที่รับประกันสังคมกับไม่รับประกันสังคม), จำนวนโรงพยาบาล (โรงพยาบาลเดี่ยวกับโรงพยาบาลที่มีเครือข่าย) หรือประเภทคนไข้ (โรงพยาบาลเน้นรับคนไข้ภายในประเทศ เน้นคนไข้ต่างชาติ และเน้นรับคนไข้เฉพาะทาง) เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรดูข้อมูลส่วนแบ่งรายได้ โดยโรงพยาบาลที่ครองส่วนแบ่งรายได้อันดับ 1 ได้แก่ BDMS (62%) รองลงมาได้แก่ BH (12%) ซึ่งแค่ 2 แห่งก็กินส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 74% ของรายได้รวมของหุ้นโรงพยาลบาล เช่นเดียวกับส่วนแบ่งกำไรปกติ BDMS ก็ยังครองอันดับ 1 (60%) ตามด้วย BH (23%)
ถัดมาควรดูประเภทกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินสด, สิทธิประกันสุขภาพ, สิทธิประกันสังคม, สิทธิหลักประกันสุขภาพ และสิทธิข้าราชการ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินสด, สิทธิประกันสุขภาพ และสิทธิประกันสังคม
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนหุ้นโรงพยาบาล คือ กลุ่มคนไข้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มก็จะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลพอสมควร เช่น ผู้ป่วยชาวไทย ก็ดูสภาวะเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจดีก็จะมีรายได้ดีและหากเจ็บป่วยก็เข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี รายได้หดหายก็อาจรักษาที่คลินิก หรือหากมีโรงพยาบาลใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็อาจดึงลูกค้าซึ่งกันและกัน จึงเกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลได้ด้วย
ผู้ป่วยชาวต่างชาติ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยว ค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งล้วนมีผลกระทบเชิงบวกและลบต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มผู้ป่วยประกันสังคม เช่น นโยบายสำนักงานประกันสังคมหรือจำนวนโรงงาน การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น
ดังนั้น ถึงแม้ว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเป็นที่หมายตาของนักลงทุนที่ประเมินว่ากำลังเป็นธุรกิจขาขึ้น ถ้าเข้าลงทุนวันนี้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงจึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน