ภาษีกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากถามเด็กวัยรุ่นตอนนี้ลงทุนอะไรกันบ้าง ถ้าเป็นยุคก่อน คำตอบที่ได้ก็น่าจะเป็นหุ้น ถัดมาอีกยุคก็เป็นพวก forex แต่มายุคนี้ต้องสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ขนาดแชร์ลูกโซ่ตอนนี้ก็ยังปรับกลยุทธ์โดยการหลอกว่านำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเลย และยังมีหลายคนที่สงสัยเรื่องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร
เมื่อสนใจกันมาก เรามาดูกฎหมายไทยเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกันว่ากำหนดไว้อย่างไรบ้าง พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พรก.แก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 กำหนดสินทรัพย์เงินดิจิทัลเป็น 2 ชนิด คือ
คริปโทเคอร์เรนซี
หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มา ซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดหรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ สิทธิอื่นใด หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศ กำหนด
โทเคนดิจิทัล
หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุน ในโครงการหรือกิจการใดๆ
- กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือ บริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนด ในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
- หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่น ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
โทเคนดิจิทัลแบ่งได้เป็น 2 แบบ
โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment token)
หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน (คล้ายหลักทรัพย์ เช่น หุ้น ฯลฯ)
โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility token)
หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง
ส่วนภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล สรรพากรได้กำหนดไว้ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ดังนี้
- เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล”
- เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)( (ฌ) “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”
ถ้าเทียบให้เข้าใจง่ายๆ 40(4)(ซ) ก็เหมือนกับเงินปันผลของหุ้น หรือ ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้นั่นแหละ ส่วน 40(4)(ฌ)ก็คือ ส่วนเกินทุน (Capital gain) ซึ่งก็คือ กำไรจากการขายในแต่ละครั้ง เหมือนกำไรจากการขายหุ้นหรือ ตราสารหนี้เช่นกัน
นอกจากนี้สรรพากรยังกำหนดเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินได้จากสกุลเงินดิจิทัลทั้ง 2 แบบไว้ใน ในมาตรา 50(2)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คํานวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้”
จากกฎหมายดังกล่าว สรุปคือ
กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครองมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง (คริปโทเคอร์เรนซี เป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจึงไม่มีส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดแบบที่โทเคนดิจิทัลมี จึงไม่มีเงินได้ให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย)
กรณีมีกำไรจากการขาย (Capital Gain) เช่น หากมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วมีกำไรจากการขาย ผู้ขาย (ตัวแทน) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน (กรณีเป็นการซื้อขายในประเทศไทย)
เงินได้ทั้ง 2 อย่างแม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ก็ยังต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย จะเสียภาษีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้ของเราทั้งหมดรวมกำไรที่เราได้รับด้วย เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่คิดอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้า ยิ่งมีเงินได้สุทธิมากเท่าใด อัตราภาษีก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งต่างจากเงินได้ประเภทที่ 4 อันอื่น เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผลในหุ้นที่หากเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว เรายังมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณเงินได้เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้ (Final Tax) แต่สำหรับเงินได้จากทรัพย์สินดิจิทัลจะไม่มีสิทธินี้ ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเงินได้เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีอีกที
แต่เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น การประเมินว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่จึงต้องพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้
- หลักแหล่งเงินได้(SourceRule) ม.41(วรรคแรก) ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
- หลักถิ่นที่อยู่(ResidenceRule) ม.41(วรรคสอง) ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
โดย ม.41(วรรคสาม) ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้อยู่ในประเทศไทย คือ ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
ดังนั้น การพิจารณาว่าผลประโยชน์ที่ได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จึงต้องพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้น
หากเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เช่น กับ “โบรกเกอร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯจาก ก.ล.ต. ประเทศไทย” เราก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายประเทศไทยโดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
หากเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น กับ “โบรกเกอร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯจาก ก.ล.ต. ต่างประเทศ” ถือเป็นเงินได้จากต่างประเทศ เราจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าเกณฑ์ของหลักถิ่นที่อยู่ ทั้ง 2 ข้อ คือ
- นำผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับปีที่ได้รับเงินได้นั้น เช่น นาย ก. ได้กำไรจากการขายคริปโทเคอเรนซีกับโบรกเกอร์ต่างประเทศในปี 2564 และโอนเงินกำไรนั้นเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารของตนเองในประเทศไทยในปี 2564
- เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยรวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วัน ไม่ว่าจะอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายชั่วระยะเวลารวมกัน ในปีภาษีเดียวกันกับปีที่ได้รับกำไรจากการขายคริปโตเคอเรนซีนั้น
ดังนั้น หากไม่อยากเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้จากต่างประเทศ เราก็แค่ทำไม่ครบทั้ง 2 ข้อ เลือกเอา จะเอาเงินเข้าประเทศไทย หรือ ตัวเองจะอยู่ในประเทศไทย ถ้าเลือกเอาเงินเข้าประเทศไทยในปีที่ได้เงินได้ ตัวเราต้องไม่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น ถ้าเลือกอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องไม่เอาเงินเข้าประเทศไทยในปีที่ได้เงินได้นั้น เราก็ไม่ต้องนำเงินที่เป็นกำไรจากการขายบิตคอยน์ (เงินต้นไม่เกี่ยว) ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา