ยื่นลดหย่อนบุตร แบบมือโปร
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ค่าลดหย่อนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดภาระภาษีที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกหนึ่งค่าลดหย่อนที่ผู้เสียภาษีในฐานะบุพการีเลี้ยงดูบุตรมีนั้น คือ
“ค่าลดหย่อนบุตร” ซึ่งมีวงเงินลดหย่อนหลักอยู่ที่ 30,000 บาทต่อปีภาษี โดยมีหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษี อ้างอิง ประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1), พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 ดังนี้
เงื่อนไขของบุตรผู้นำมาลดภาษี
- เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือ คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
- เป็นผู้เยาว์ หรือ หมายถึง อายุไม่ถึง 20 ปี ตามเงื่อนไขการบรรลุนิติภาวะมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ยังไม่บรรลุด้วยการสมรส นั่นเอง หรือ หากมีอายุเกิน 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ชั้นอุดมศึกษา หรือ เป็นบุตรที่ศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ และ
- ไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินได้ยกเว้นตามกฎหมาย
- อยู่ในการอุปการะของเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ด้วยการเลี้ยงดูหรือการเงิน
จำนวนเงินที่มีสิทธิลดหย่อน
- บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือ บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท
- กรณีบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท
จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อน
- ในกรณีที่มีบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดหักลดหย่อนก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อน
- หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่เกินกว่า 3 คนแล้ว จะไม่สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้อีก ดังนั้นการนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนจะสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่มี ชีวิตอยู่มีจำนวนไม่ถึง 3 คนนั่นเอง
- การนับจำนวนบุตร นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุมากไปน้อย และนับรวมบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนด้วย เช่น บุตรที่บรรลุนิติภาวะไปแล้ว
การหักลดหย่อนบุตร
- สามารถหักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษีไม่ว่าการดำรงอยู่ของบุตรจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่น บุตรบรรลุนิติภาวะระหว่างปี ในปีนั้นพ่อแม่ก็ยังสามารถนำบุตรมาลดหย่อนได้เป็นปีสุดท้าย เป็นต้น
กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
- สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทย สามารถลดหย่อนบุตรได้ไม่ว่าบุตรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม หากบุตรเข้าเงื่อนไขการลดหย่อนตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น
กรณีบุตรบุญธรรม
- จะต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม และจะสามารถเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนได้ตั้งแต่ปีที่จดรับรองโดยบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมจะไม่สามารถ ลดหย่อนบุตรคนเดียวกันได้อีก
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ยังได้มีการตรากฎหมายลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ให้สามารถลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกคนละ 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท สำหรับการลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
เนื่องจากการลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ละเอียด เพื่อลดปัญหาและความผิดพลาดที่อาจะเกิดขึ้นได้นั้น ขอให้ผู้เสียภาษีศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ดีก่อนใช้สิทธิลดหย่อนในหมวดนั้นๆ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand | สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage | www.tfpa.or.th