×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 เรื่องควรรู้ ก่อนลงทุน Cryptocurrency

1,880

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

จากรายงานพฤติกรรมคนทั่วโลก Digital 2022 Global Overview Report พบว่าคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 16 – 64 ปี ถือครองเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ที่ระดับ 20.1% สูงสุดเป็นอัน 1 ของโลก เหตุผลหลัก ๆ มาจากความผันผวนค่อนข้างสูง จึงนิยมลงทุนจากความคาดหวังผลตอบแทนในระยะเวลาสั้น ๆ

 

เช่นเดียวกับมาร์เก็ตแคปคริปโตเคอร์เรนซี่ทุกสกุลทั่วโลก เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 2 มกราคมปี 2561 มาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 616 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และล่าสุด 16 มีนาคมปี 2565 มาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 2,006 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ   

 

ถ้าพูดถึงคริปโตเคอร์เรนซี่ ก็ต้องยกให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยม มีการซื้อขายสูงสุดในโลก แต่ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว สังเกตจากสกุลเงินดิจิทัล 100 อันดับแรก มาร์เก็ตแคปประมาณ 1,700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (สิ้นเดือนมกราคมปี 2565)

 

สะท้อนได้ว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ยังมีหลายทางเลือกให้กับนักลงทุน ดังนั้น ภาพการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่ไม่ใช่มีเฉพาะบิตคอยน์เท่านั้น ยังมีสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกอื่น (Altcoin) ที่น่าสนใจ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรเข้าใจข้อมูลเบื้องต้น

 

บิตคอยน์เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาด?

 

ตั้งแต่การลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่ได้รับความนิยม บิตคอยน์มีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 90% และให้ผลตอบแทนต่อปีอยู่ในระดับที่ดี แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือประมาณ 40% ในเดือนมกราคมปี 2565 โดยอีเธอเรียม สกุลเงินดิจิทัลอันดับ 2 ของโลกเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นประมาณ 20% และสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกอื่น ๆ

 

นอกจากผลตอบแทนของอีเธอเรียมที่เริ่มเป็นที่น่าสนใจแล้ว อีเธอเรียมไม่ใช่เพียงแค่สกุลเงินดิจิทัล แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ ที่มี Smart Contract (สัญญาอัจฉริยะ) ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอีเธอเรียมได้อย่างอิสระ และยังเอื้อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปต่อยอดสร้างแอปพลิเคชั่นอื่นๆ จึงเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

ส่วนสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกอื่น ๆ ที่น่าจับตา เช่น ยู.เอส.ดอลลาร์ คอยน์ เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ (Stablecoin) โดยใช้อ้างอิงมูลค่าของโทเคนกับดอลลาร์สหรัฐในอัตราส่วน 1:1 หมายความว่าทุก ๆ ยู.เอส.ดอลลาร์ คอยน์ ที่ถูกผลิตออกมา จะมี 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ถูกเก็บเอาไว้ในบัญชี ซึ่งมีการตรวจสอบเป็นประจำว่ามีการเก็บเงินสำรองไว้จริง ๆ

 

เทธเธอร์ เป็นสกุลเงินดิจิทัลแบบ Stablecoin ที่อยู่บนบล็อกเชน ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ในรูปแบบดิจิทัล โดยมีการอ้างอิงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วน 1:1 หมายความว่าทุกครั้งที่มีการออกเหรียญเทธเธอร์ ผู้ออกเหรียญ จะมีการเก็บเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเอาไว้ในจำนวนเท่ากัน เพื่อให้นักลงทุนที่ถือเหรียญเทธเธอร์ สามารถแลกเงินกลับเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ตามความต้องการ

 

ดังนั้น นักลงทุนจึงมองว่าการถือเหรียญเทธเธอร์จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีความปลอดภัยขึ้น หากตลาดสกุลเงินดิจิทัลผันผวน โดยสามารถโยกเงินจากสกุลเงินอื่น ๆ มาพักเอาไว้ โดยที่ไม่ต้องถอนออกมาเป็นสกุลเงินทั่วไป

 

ดังนั้น ไม่เพียงบิตคอยน์เท่านั้นที่ผลักดันให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่เติบโต แต่สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ จะมีบทบาทและกลายเป็นจุดแข็งต่อตลาดนี้ในอนาคต

 

ผลตอบแทนสูงมาพร้อมกับความผันผวนที่สูง?

 

จากสถิติที่น่าทึ่งของเหรียญอีเธอเรียม จากต้นปี 2560 อยู่ที่ 1 อีเธอเรียม เท่ากับ 8.17 ดอลล่าร์สหรัฐ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 826.82 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 อีเธอเรียม (19 ธันวาคม 2560) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 10,020% หรือต้นปี 2564 ซื้อขายกันแถว ๆ 730 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 อีเธอเรียม และในระหว่างปีราคาผันผวนขึ้นลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่นเดียวกับเหรียญโซลาน่า ในช่วงต้นปี 2564 ซื้อขายกันแถว ๆ 1.84  ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 โซลาน่า และปรับขึ้นสู่ 258.93 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 โซลาน่า (11 มิถุนายน 2564) จากนั้นปรับลดลงอย่างรวดเร็วและซื้อขาย 170 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 โซลาน่าตอนปลายปี

 

ดังนั้น ก่อนลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ควรเข้าใจว่ามีความผันผวนสูงมาก โดย MVIS CryptoCompare Digital Asset 100 ให้ข้อมูลว่าค่าความแปรปรวนของผลตอบแทนหรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่สูงกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับค่าความแปรปรวนของผลตอบแทนของดัชนี MSCI ACWI (ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่) ขณะเดียวกันมีเครื่องมือการวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ

 

บิตคอยน์เหมือนทองคำหรือไม่?

 

นับตั้งปี 2563 เป็นต้นมาระหว่างการแพร่ระบาด COVID-19 นอกจากนักลงทุนจะโยกเงินลงทุนเข้าถือทองคำแล้ว ยังลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่อีกด้วย จนเกิดกระแสว่าคริปโตเคอร์เรนซี่จะมาแทนที่ทองคำ เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ถึงแม้ในช่วงแรก ๆ ของการระบาดราคาสกุลเงินดิจิทัลโดยรวมปรับขึ้กว่า 83% ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนในระหว่างทาง แต่จากบริษัทระดับโลกประกาศรับคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและทำให้ราคาบิตคอยน์ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 400% จากปีก่อนหน้า

 

จากความเคลื่อนไหวราคาและผลตอบแทนของทองคำและบิตคอยน์จะมีแนวโน้มไปทิศทางเดียวกัน แต่สินทรัพย์ทั้งสองก็มีความแตกต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะการยอมรับ ซึ่งธนาคารกลางเกือบทั่วโลกยังไม่ยอมรับกับบิตคอยน์ หรือยังไม่มีมูลค่าถาวรและขึ้นกับการยอมรับของผู้คน และอย่าลืมบิตคอยน์พึ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน จึงยังไม่มีกการการันตีว่าในระยะยาวแล้วจะเป็นอย่างไร

 

ราคา Cryptocurrency ไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่น?

 

เป็นที่เข้าใจว่าถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดวิกฤติ หรือภาวะสงคราม นักลงทุนจะเน้นถือทองคำ เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และลดการถือครองหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ หุ้นกลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สร้างผลตอบแทนในระดับที่ดี แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราเงินเฟ้อเป็นขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับความนิยมมากกว่าตราสารหนี้ระยะยาว

 

หมายความว่าเศรษฐกิจโดยรวม นโยบายการเงิน การคลัง จะมีความสัมพันธ์กับราคาสินทรัพย์การลงทุน แต่ยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับราคาสกุลเงินดิจิทัล ปัจจัยสำคัญมาจากเป็นสินทรัพย์ลงทุนเกิดใหม่จึงมีข้อมูลศึกษาไม่มาก ราคามีความผันผวนสูงจึงถูกมองว่ายังเน้นการเก็งกำไร ที่สำคัญยังไม่ได้รับการยอมรับจากธนาคารกลาง จึงอาจต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล

 

ความคาดหวัง Cryptocurrency ในอนาคต?

 

แม้มาร์เก็ตแคปของคริปโตเคอร์เรนซี่ จำนวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือราคาเพิ่มขึ้นน่าประทับใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่พึ่งเกิดมาได้ไม่นานและยังมีอุปสรรคต่าง ๆ กับการใช้งานในโลกความเป็นจริง และถึงแม้สกุลเงินดิจิทัลจะมีระบบรักษาความปลอดภัยสูงมาก แต่ความผันผวนสูงในการลงทุนก็สูงเช่นเดียวกัน

 

คำถามคือ คริปโตเคอร์เรนซี่จเกลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักได้มากน้อยแค่ไหน จะมีการบูรณากับระบบและการบริการอย่างไร ธนาคารกลางจะยอมรับหรือไม่ และมีโอกาสให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนกับระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือไม่

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats