4 รู้ ‘ยื่นภาษี’ ฉบับพ่อค้าแม่ค้า
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
คนที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสียภาษีตลอดไป หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ควรยื่นและเสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อไม่ต้องจ่ายย้อนหลังพร้อมเงินส่วนเพิ่มตามกฎหมาย
พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเริ่มตื่นตัวเรื่องภาษี หลังมีกระแสข่าวว่าสรรพกรมีการเรียกเก็บภาษีเงินได้กับร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าที่รับเงินผ่านการโอนเงิน สแกน QR Code และโครงการคนละครึ่ง แล้วมีสิ่งไหนที่ควรรู้บ้าง เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน
รู้ว่า “ต้องยื่นภาษี”
รายได้จากการค้าขาย มักถูกจัดเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ที่หนึ่งปีต้องยื่น 2 ครั้ง ได้แก่
- ยื่นครึ่งปี: โดยนำเงินที่ได้รับช่วง ม.ค.-มิ.ย. ไปยื่นภาษีภายในเดือน ก.ย. ของปีเดียวกัน
- ยื่นสิ้นปี: โดยนำเงินที่ได้รับช่วง ม.ค.-ธ.ค. ไปยื่นภาษีภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป
สำหรับยอดรายได้ที่ยื่นภาษีแต่ละครั้งซึ่งเรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” พ่อค้าแม่ค้าสามารถประเมินจำนวนเงินที่ได้รับได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าเงินที่ได้รับนั้นจะมีหลักฐานการรับเงินหรือโอนเงินหรือไม่ ขอเพียงยื่นรายได้ที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุดอย่างสุจริตใจ ก็ถือว่าเป็นการยื่นภาษีที่ถูกต้องแล้ว
รู้ภาษี “ที่ต้องชำระ”
หากยื่นภาษีโดยเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ไม่ต้องเตรียมเอกสารใดๆ ภาษีทั้งปีที่ต้องจ่ายจะขึ้นกับเงินที่ได้รับทั้งปี ซึ่งหากเทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่รายได้เท่ากัน จะเสียภาษีน้อยกว่า
* 40(1) หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และหักเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท
** 40(8) เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%ของเงินที่ได้รับ (สำหรับเงินที่ได้จากการค้าขายทั่วไป ตามเงื่อนไขสรรพากร) หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
รู้ทางเลือก “หักค่าใช้จ่าย”
สรรพากรเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าตอนยื่นภาษีเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ (1) แบบเหมา 60%ของเงินที่ได้รับ โดยไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายมาแสดง (2) แบบตามจริง โดยต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและระบุผู้ที่รับเงินจากเรามาแสดง
แต่ในชีวิตจริง การจ่ายเงินซื้อวัตถุดิบของพ่อค้าแม่ค้ามักไม่ได้ซื้อจากห้างสรรพสินค้าที่ออกใบเสร็จได้ หรือและคงไม่ได้ขอสำเนาบัตรประชาชนของคนที่เราไปซื้อวัตถุดิบด้วยมาเป็นหลักฐาน ดังนั้นหากไม่สามารถเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายได้เกิน 60% การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ซึ่งการจะรู้ว่าค่าใช้จ่ายจริงเป็นเท่าไร พ่อค้าแม่ค้าควรจดบันทึกเงินที่รับในแต่ละวันและที่จ่ายแต่ละครั้ง แม้ไม่ได้ช่วยลดภาษีแต่ก็ช่วยให้รู้ว่าในแต่ละวันแต่ละปี ค้าขายได้กำไรเท่าไร เพื่อจะได้บริหารค่าใช้จ่ายของร้านและค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม
รู้ทัน “ทางเลือกรับเงิน”
พอมีเรื่องภาษีเข้ามา พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเลือกกลับมารับเฉพาะเงินสด เพื่อหวังให้รอดพ้นการตรวจสอบรายได้ ซึ่งต้องแลกกับความยุ่งยากในการเตรียมเงินทอน นับเงินตอนปิดร้าน เช็กรายได้และรายจ่ายในแต่ละวัน รวมถึงอาจเสี่ยงถูกคนร้ายจี้ชิงทรัพย์ได้
ในขณะที่การรับเงินผ่านธนาคารทั้ง QR Code หรือเลขบัญชี ก็ช่วยให้การรับเงินสะดวกสบายกับลูกค้ามากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับเชื้อโรคที่ติดมากับเงินสด อีกทั้งเป็นการสร้างประวัติทางการเงิน หรือที่เรียกว่าการเดิน Statement ธนาคาร เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้สินเชื่อและเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ของธนาคารในอนาคต
ภาษี สิ่งที่ผู้มีเงินได้ล้วนต้องจ่าย ไม่ว่าทำอาชีพอะไร ที่ผ่านมาเคยยื่นหรือไม่ โดยภาษีที่ต้องจ่ายอาจไม่ได้มากอย่างที่หลายคนกังวล เมื่อเทียบกับภาษีที่มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายด้วยรายได้ที่เท่ากัน