×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

7 เทคนิคให้เพื่อนยืมเงิน…แล้วสบายใจ

23,261

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

“ถ้าเพื่อนโทรศัพท์มาหาเพื่อขอยืมเงิน จะให้ยืมหรือไม่” เป็นคำถามที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะถ้าให้ยืมก็กังวลว่าจะไม่ได้คืน ไม่ไว้ใจเพื่อน แต่ถ้าปฏิเสธก็กังวลว่าจะเสียเพื่อน หรือบางคนประกาศเลยว่า จะให้ยืมเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ตัวเองแบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น

 

CNN Money ทำการสำรวจผู้คนในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการให้เพื่อนยืมเงิน ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 27% ยอมรับว่าเมื่อให้เพื่อนยืมเงินแล้วจะไม่ได้คืน ส่วนอีกราว 43% บอกว่าได้เงินคืนแต่ได้ไม่เต็มจำนวน แปลว่า การให้เพื่อนยืมเงิน ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักและอาจตามมาด้วยเรื่องขุ่นเคืองใจกัน

 

ดังนั้น การตัดสินใจให้เพื่อนยืมเงินอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้เงินคืน ผิดใจกัน จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะปฏิเสธตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ถ้ายังลังเลว่าจะให้เพื่อนยืมเงินหรือไม่ ควรพิจารณาเรื่องเหล่านี้ก่อน

 

อย่าเพิ่งใจดี

 

เมื่อเพื่อนมาขอยืมเงิน ควรให้ใช้เวลาไตร่ตรองก่อน ด้วยการอธิบายก่อน เช่น ขอตรวจสอบเงินก่อนว่าตอนนี้เหลือพอที่จะให้ยืมหรือไม่ หรืออาจบอกว่าช่วงนี้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ก็แนะนำให้เพื่อนหาช่องทางอื่น ๆ เพราะอาจมีสถาบันการเงินบางแห่งจัดโปรโมชั่นบริการกู้ยืมเงิน

 

อย่ากลัวที่จะพูดว่า “ไม่” 

 

บางครั้ง อาจไม่มีเงินให้ยืมหรือไม่ต้องการให้เพื่อนยืมเงิน ดังนั้น ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็แค่พูดว่า “ไม่” แต่ถ้าไม่กล้าพูดคำว่า “ไม่” ลองหาเหตุผลอื่น ๆ เพื่อต้องการรักษามิตรภาพที่ดีต่อกัน เช่น เรามีกฎที่จะไม่ให้เพื่อนยืมเงิน เพราะอาจทำให้มิตรภาพพังได้ แต่ถ้าเพื่อนฟังแล้วไม่เข้าใจก็ให้กลับไปใช้เคล็ดลับข้อ 1

 

ร่างสัญญา

 

ถ้าให้เพื่อนยืมเงินจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่างเอกสารระบุเงื่อนไขของเงินกู้ โดยระบุว่าใครคือผู้ให้กู้ ชื่อผู้กู้ จำนวนเงินกู้ วันที่ผู้กู้เริ่มชำระเงิน ระยะเวลาการชำระคืนทั้งหมด และถ้ามีดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายก็ให้กำหนดไว้ด้วย และทั้งสองฝ่ายก็เซ็นชื่อกำกับ ซึ่งเอกสารนี้จะปกป้องจากความเข้าใจผิดและในกรณีที่ผู้กู้ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินคืน

 

ให้ยืมเงินแค่จำนวนที่เสียได้

 

กฎเหล็กของนักพนันมืออาชีพ คือ อย่าเดิมพันมากเกินกว่าที่ตัวเองจะรับไหว เช่นเดียวกับการให้เพื่อนยืมเงิน โดยหลังจากประเมินการเงินของตัวเองและพบว่าไม่สามารถให้เพื่อนยืมได้ก็ต้องปฏิเสธ และควรมีกฎเหล็ก คือ ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นธนาคารให้เพื่อน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเพื่อนมาขอยืมเงินในจำนวนเล็กน้อย และประเมินแล้วว่าให้ยืมได้และไม่ทำลายมิตรภาพ ถ้าให้เพื่อนยืมก็ควรเตรียมทำใจถ้าโดนเบี้ยวหรือถูกผิดนัดการจ่ายคืน

 

อย่าลืมหลักประกัน

 

เมื่อเพื่อนมาขอยืมเงิน ส่วนใหญ่มักจะให้ยืมง่ายๆ จากนั้นก็ลุ้นว่าจะได้คืนหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก ดังนั้น ถ้าตัดสินใจให้เพื่อนยืมเงินควรขอหลักประกันด้วย เช่น เครื่องประดับ รถยนต์ และควรอธิบายให้เพื่อนเข้าใจว่าทำไมถึงขอหลักประกัน เช่น เพื่อความสบายใจและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้ต่อไป

 

คิดดอกเบี้ย

 

เมื่อให้เพื่อนยืมเงินส่วนใหญ่จะไม่คิดดอกเบี้ย แต่ในความเป็นจริงก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้แต่ในระดับเล็กๆ น้อยๆ พร้อมกับอธิบายให้เพื่อนเข้าใจว่า การคิดดอกเบี้ยเป็นการลดค่าเสียโอกาสจากเงินก้อนนี้ เพราะสามารถนำลงทุนช่องทางอื่นๆ เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีได้

 

ติดต่อเพื่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น

 

การให้เพื่อนยืมเงินได้ แสดงว่าต้องเป็นเพื่อนสนิท รู้จักกันมานานจึงเชื่อใจเต็มที่ แต่ก็ไม่ควรลืมว่านี่คือเงินของเราและมีสิทธิ์ได้รับคืน ดังนั้น ถ้าเพื่อนผิดนัดจ่ายหนี้คืนก็ต้องติดต่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น

 

ถ้าเข้าใจเหตุผลถึงความจำเป็นก็สามารถยืดหยุ่นได้ แต่ถ้าผู้กู้ไม่ขอโทษหรือไม่กังวลเกี่ยวกับการผิดนัดหรือคืนเงินล่าช้า เราก็ควรมีเหตุผลที่จะไม่ยืดหยุ่น

 

การให้เพื่อนยืมเงินก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางคนให้ยืมเพราะเห็นอกเห็นใจและมั่นใจว่าจะได้เงินคืนเต็มจำนวน บางคนกลัวจะทำลายความสัมพันธ์จึงให้ยืมโดยที่ไม่กลัวว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ขณะที่บางคนมีกฎว่าไม่ให้เพื่อนยืมเงินโดยโดขาดเพราะกลัวจะเสียความเป็นเพื่อนไปตลอดกาล

 

ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะให้เพื่อนยืมเงินหรือไม่นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะนอกจากต้องเผื่อใจกับการไม่ได้เงินคืน ได้คืนแต่ไม่เต็มจำนวนแล้ว ยังต้องพยายามรักษามิตรภาพที่ดีเอาไว้ต่อไปอีกด้วย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats