4 เรื่องเงินต้องรู้! ของคนทำฟรีแลนซ์
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ฟรีแลนซ์ อาชีพฮิตในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากต้องใส่ใจกับงานที่ทำเพื่อให้มีงานอย่างต่อเนื่อง ต้องใส่ใจกับเงินที่ได้มาด้วย ส่วนจะมีเรื่องเงินด้านไหนที่ต้องใส่ใจบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ฟรีแลนซ์ที่มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องทำงานตามเวลา ไม่มีหัวหน้าคอยดูแล แต่ก็ต้องทำงานอย่างมีวินัย เพราะหากงานออกมาไม่ดีอาจไม่มีคนจ้างต่อ รวมถึงเงินในกระเป๋าที่ไม่มีวันรู้เลยว่าพรุ่งนี้จะมีเงินเข้ามาอีกหรือไม่
เพื่อให้การจัดการเงินของฟรีแลนซ์เป็นไปอย่างราบรื่น มี 4 สิ่งเรื่องเงิน ที่ฟรีแลนซ์ต้องจัดการ ดังนี้
เช็กเงินที่ต้องจ่าย
ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว อย่างค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ และค่าใช้จ่ายคนในอุปการะ เช่น พ่อแม่ บุตรหลาน ฯลฯ เพื่อให้รู้ว่าแต่ละเดือนต้องขยันทำงานอย่างน้อยแค่ไหน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้
แยกบัญชีรับเงิน ออกจากบัญชีใช้จ่าย
การแยกบัญชีไว้รับเงินค่าจ้าง โดยไม่ปะปนกับบัญชีส่วนตัวที่อาจมีเพื่อนฝูงโอนเงินมาให้ ช่วยให้ง่ายต่อการเช็กค่าจ้างแต่ละงาน และจะได้รู้ว่าเดือนนี้หารายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเดือนหน้าหรือยัง หากว่ายังแสดงว่าต้องเร่งหางานให้มากขึ้นก่อนที่จะหมดเดือนนี้ไป
และเมื่อถึงต้นเดือนการโอนเงินบางส่วนที่ได้รับในเดือนที่ผ่านมา ไปไว้อีกบัญชีเพื่อเป็นเงินใช้จ่ายตลอดเดือนนี้ จะช่วยคุมค่าใช้จ่ายได้ เพราะหากเงินในบัญชีใกล้หมด ก็เป็นสัญญาณเตือนให้ต้องคุมหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนสิ้นเดือน
เช็กและกันเงินไว้จ่ายภาษี
รายได้จากการทำงานของฟรีแลนซ์โดยปกติถือเป็นเงินได้ 40(2) ที่ต้องนำรายได้ทั้งหมดที่ได้มาตลอดทั้งปีนี้ ไปยื่นภาษีช่วง ม.ค.-มี.ค. ปีถัดไป ไม่ว่ารายได้นั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ก็ตาม
ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษีอยู่ เช่น
- รายได้ส่วนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ถือว่าจ่ายภาษีไปแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีอีก
- ภาษีเป็นเรื่องของมนุษย์เงินเดือน ส่วนฟรีแลนซ์ไม่ต้องเสียภาษี
แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะได้รับรายได้จากทางไหนหากกฎหมายไม่ได้ประกาศยกเว้นให้ รายได้เหล่านั้นต้องนำมารวมกันเพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีแต่ละคน เช่น ฟรีแลนช์ที่รายได้ทั้งปี 460,000 – 660,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 38,333 – 55,000 บาท) ปกติจะเสียภาษีฐาน 10% ซึ่งสูงกว่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 3% การเช็กภาษีที่ต้องจ่ายและกันเงินให้เพียงพอกับภาษี จึงเป็นสิ่งที่ต้องไม่มองข้าม
เงินสำรองและเงินเก็บที่ต้องมี
ฟรีแลนซ์ เป็นอาชีพที่ไม่มีสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินบำเหน็จบำนาญยามเกษียณ ฯลฯ รวมถึงการกู้เงินอาจยากกว่ามนุษย์เงินเดือน หากไม่เตรียมพร้อมหรือไม่เก็บหลักฐานแสดงความมั่นคงของรายได้และอาชีพที่ทำไว้
การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 6-12 เดือน และการสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ฟรีแลนซ์ต้องให้ความสำคัญ ก่อนที่จะสายเกินไป
ฟรีแลนซ์อาชีพที่มีอิสระทั้งการทำงานและจัดการเงิน แต่หากจัดการเงินที่ได้มาไม่ดี แม้หาเงินมาได้มากแค่ไหน ปัญหาทางการเงินก็อาจมาเยือนได้แบบไม่รู้ตัว