×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

4 เรื่อง “ภาษีน่ารู้” ของคนทำฟรีแลนซ์

6,294

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ฟรีแลนซ์หลายคน มักเข้าใจผิดในเรื่องภาษี ทั้งภาษีที่ต้องจ่าย หน้าที่ที่ต้องยื่น รวมถึงสิทธิต่างๆ ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ทุกคนที่มีรายได้ไม่ว่ามาจากไหน ล้วนมีหน้าที่ต้องยื่นและเสียภาษีทั้งสิ้น เหล่าฟรีแลนซ์ที่รับงานในนามส่วนตัวหรือส่วนบุคคลก็เช่นกัน ส่วนต้องรู้อะไรเกี่ยวกับภาษีบ้าง เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

“เงินที่ได้” ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

ทุกครั้งที่ได้รับค่าจ้าง โดยเฉพาะผู้ว่าจ้างที่เป็นบริษัทหรือนิติบุคคล ค่าจ้างที่ได้จะไม่ได้รับเต็มจำนวนตามที่ตกลงกัน เพราะมักถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3%

 

เช่น ค่าจ้าง 10,000 บาท ยอดเงินเข้าบัญชีจะเป็น 9,700 บาท โดย 300 บาท ที่ถูกหักไปผู้ว่าจ้างจะนำส่งสรรพากรไปก่อน ส่วนภาษีจริงที่ต้องจ่ายจะมากหรือน้อยกว่านี้ ก็จะรู้ได้ตอนที่ถึงกำหนดยื่นภาษีกลางปีและสิ้นปี

 

“เงินที่ได้” ต้องยื่นภาษี

 

เงินค่าจ้างที่ได้รับไม่ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ฟรีแลนซ์มีหน้าที่ต้องนำยอดเงินค่าจ้างที่ได้รับพร้อมภาษีที่ถูกหัก ไปยื่นเพื่อคำนวณภาษีใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

โดยในแต่ละปีมีการยื่นภาษี 2 ครั้ง ได้แก่ (1) ยื่นภาษีกลางปี ช่วง ก.ค.-ก.ย. และ (2) ยื่นภาษีสิ้นปี ช่วง ม.ค.-มี.ค. ขึ้นกับประเภทรายได้ ที่ได้รับมา เช่น

 

  • รายได้ กรณีค่าจ้างการเป็น ดีเจ/วีเจ/วิทยากร/งานเดลิเวอรี/งานพาร์ทไทม์/งานจ้างทั่วไป หรือค่าคอมมิชชั่นต่างๆ ถือเป็นเงินได้ 40(2) ที่รายได้ประเภทนี้ จะมีการยื่นภาษีแค่ครั้งเดียวตอนสิ้นปี

 

  • รายได้ กรณีเป็นทนายว่าความ ผู้สอบบัญชี วิศวกรตรวจแบบ ถือเป็นเงินได้ 40(6) หรือกรณีขายของออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ 40(8) ที่รายได้เหล่านี้ จะมีการยื่นภาษีทั้ง 2 ครั้ง

 

หากฟรีแลนซ์ไม่ยื่นภาษีตามกำหนด ไม่ว่ากลางปีหรือสิ้นปี จะถือว่าเข้าข่ายเลี่ยงไม่เสียภาษี ซึ่งมีบทลงโทษตามมา

 

อาจ “จ่ายภาษี” เพิ่มหากรายได้สูง 

 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบก้าวหน้า หมายถึง เงินได้ส่วนแรกๆ จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ แต่เงินได้ส่วนหลังๆ จะเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

 

ทำให้แม้ตอนได้รับเงินค่าจ้างจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%ไว้แล้ว แต่เมื่อคำนวณภาษีสิ้นปี หากรายได้ยังน้อยอยู่อาจขอภาษีคืนได้บางส่วน แต่หากรายได้สูงก็มักต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้เฉพาะค่าจ้างที่เป็นเงินได้ 40(2) หาก

 

  • มีรายได้ทั้งปี 500,000 บาท และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รวม 15,000 บาท แต่หากภาษีที่ควรเสียจริงอยู่ที่ 11,500 บาท* จะขอคืนได้ 3,500 บาท

 

  • มีรายได้ทั้งปี 1,000,000 บาท และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รวม 30,000 บาท แต่หากภาษีที่ควรเสียจริงอยู่ที่ 83,000บาท* จะต้องจ่ายเพิ่ม 53,000 บาท เป็นต้น

 

* 40(2) หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

 

“ลดภาษีได้” หากรู้จักวางแผน

 

ฟรีแลนซ์ก็เหมือนมนุษย์เงินเดือนที่สามารถวางแผนภาษีด้วยการลงทุนกองทุน SSF กองทุน RMF ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ รวมถึงการใช้สิทธิค่าลดหย่อนอื่น เช่น ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค บุตร บิดามารดา ฯลฯ เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือขอคืนภาษีได้เช่นกัน เพียงแค่ลองทำความเข้าใจเงื่อนไขค่าลดหย่อน เหล่านี้

 

ภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะกฎหมายและประกาศสรรพากรหลายอย่าง ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เงินได้มีสิทธิทำอะไรได้บ้าง ขอเพียงฟรีแลนซ์หันมาสนใจภาษีสักนิด และลองทำดูสักครั้ง จะรู้เลยว่าภาษีนั้นไม่ยากและไม่น่ากลัวเลย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats