3 เคล็ดลับความสำเร็จการลงทุนแบบ “DCA”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากพิจารณาถึงกระบวนการที่จะสร้างแผนการเงินให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้นั้น หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็คือ “การลงทุน” ยิ่งไปกว่านั้นคำหนึ่งคำที่เชื่อว่านักลงทุนทั้งมือใหม่หรือมือเก๋า พอร์ตใหญ่เบิ้มหรือพอร์ตเริ่มต้น ควรให้ความสำคัญก็คือ “วินัย” ในการลงทุน บทความนี้ผู้เขียนจะลงรายละเอียดถึงเทคนิคการสร้างวินัยการลงทุนสำหรับกรณีนักลงทุนที่มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาลูกค้าในการวางแผนการเงิน สำหรับกลุ่มที่มีรายได้เข้ามาอย่างแน่นอนต่อเนื่อง เช่น มนุษย์เงินเดือน ผู้บริหารองค์กร หรือเจ้าของกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอ สิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันของนักลงทุนกลุ่มนี้ คือ มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ไม่มีเวลาในการเฝ้าศึกษาตลาด หลายท่านอาจจะกลัวความเสี่ยงมากเกินไป กล่าวคือ ช่วงตลาดขาลงก็ไม่กล้าลงทุนกลัวหุ้นลงต่อ ช่วงตลาดขาขึ้นก็กลัวซื้อของแพง มัวแต่จดๆ จ้องๆ จนไม่ได้เริ่มลงทุนเสียที ในทางกลับกันบางท่านกล้าได้กล้าเสียอยากลงทุนมาก แต่กลับหวั่นไหวกับราคาหุ้น พอราคาขาดทุนก็รีบขายหุ้นทิ้ง พอเวลาผ่านไปเห็นเพื่อนๆ ทำกำไรจากการลงทุนได้ก็กลับเข้ามาลงทุนใหม่ เข้าออกๆ จนไม่สามารถลงทุนอย่างต่อเนื่องได้ ปัญหาเหล่านี้ เราสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ชื่อว่า DCA ช่วยตอบโจทย์นักลงทุนกลุ่มนี้ได้ครับ
เทคนิคการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่จะลงทุนถัวเฉลี่ยเป็นงวดๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยความถี่ในการลงทุนอาจจะเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีในสินทรัพย์ที่เลือกไว้ โดยจะลงเงินเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกครั้งโดยไม่สนใจว่าราคาสินทรัพย์จะเป็นเท่าใดในขณะนั้น ทำให้ในภาพรวมราคาสินทรัพย์ที่เราได้จะเป็นราคาที่ถัวเฉลี่ยกันไปตลอดทุกช่วงเวลาทั้งพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้เคล็ดลับความสำเร็จในการ DCA จะมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สินทรัพย์ที่เลือกลงทุน จำนวนสินทรัพย์ที่ลงทุน รวมทั้งระยะเวลาความสม่ำเสมอในการลงทุน โดยผู้เขียนขออนุญาตอธิบายทีละปัจจัยดังนี้
สินทรัพย์ที่เลือกลงทุน
สมมุติฐานหลักในการลงทุนแบบ DCA คือ ในระยะสั้น สินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกชนิดมีโอกาสที่ราคาจะมีความผันผวนเกิดขึ้น และอาจจะมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วรุนแรงในบางชั่วขณะ ดังนั้น เราจะต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี มีแนวโน้มการเติบโตของราคาในระยะยาว เพื่อทดสอบสมมุติฐานนี้ ผู้เขียนจะขอทำการเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนในกองทุนหุ้นไทยพื้นฐานดี กับการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างกองทุนน้ำมัน ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่าผู้ลงทุนทยอยลงทุนครั้งละ 1,000 บาท ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี จากกราฟที่ 1 จะเห็นได้ว่าหากเราเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นไทยพื้นฐานดี เงินลงทุนตั้งต้นรวมของผู้ลงทุนจะมีการเติบโตจาก 120,000 บาท เป็น 248,057 บาทคิดเป็นผลตอบแทนรวม 107% หรือคิดเป็น IRR 13.95% ต่อปี นอกจากนั้นหากเปรียบเทียบระหว่างราคาต้นทุนเฉลี่ย (เส้นสีเขียว) กับราคาสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลา (เส้นสีฟ้า) จะพบว่าราคาสินทรัพย์จะสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยเกือบทุกช่วงเวลา ทำให้การลงทุนมีกำไรเกือบจะทุกช่วงการลงทุน
ขณะที่เมื่อพิจารณากราฟที่ 2 จากปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูงในปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันเร่งตัวสูงขึ้นและทำให้น้ำมันเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดในปีที่ผ่านมา ทว่าหากเราดูผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 10 ปี เงินก้อนนี้จะเติบโตจาก 120,000 เป็น 138,380 บาท หรือคิดเป็น IRR เพียง 2.82% ต่อปี นอกจากนี้หากพิจารณาราคาต้นทุนเฉลี่ย เทียบกับราคาสินทรัพย์ จะพบว่าราคาสินทรัพย์ในขณะนั้น ต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ลงทุนมาแทบจะตลอดเวลา หมายถึงผู้ลงทุนมีโอกาสขาดทุนแทบจะทุกช่วงเวลาตลอดระยะเวลา 10 ปี
ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า เราควรจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเป็นผู้ชนะในระยะยาวเสมอ โดยเฉพาะไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวของราคาแบบเป็นวัฏจักร
จำนวนสินทรัพย์ที่ลงทุน
แม้ว่าการลงทุนแบบ DCA จะเป็นการเฉลี่ยต้นทุนในการซื้อสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลาแล้ว แต่แนวคิดการลงทุนแบบ Asset Allocation หรือการกระจายน้ำหนักการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ยังเป็นแนวคิดที่ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์เพียงชนิดเดียวถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก กล่าวคือหากสินทรัพย์ชนิดนั้นแม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในระยะยาว แต่หากในช่วงขณะใดขณะหนึ่งที่สินทรัพย์ชนิดนั้นมีการปรับฐานลงอย่างรุนแรง พอร์ตการลงทุนก็อาจจะเสียหายอย่างหนักได้ โดยมีข้อสังเกตจากกราฟที่ 3 หากผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่รวมทั้งผู้เขียนมั่นใจว่าการลงทุนในหุ้นจีนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว จึงตัดสินใจลงทุนแบบ DCA เป็นเวลา 10 ปี ในกองทุนหุ้นจีนที่ทำผลงานย้อนหลังได้ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นจีนมีการปรับฐานลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้แม้จะเลือกกองทุนที่ดี แต่หากเผชิญกับสถานการณ์ที่ตลาดมีความผันผวน ก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนรวมย้อนหลัง 10 ปีจากที่เคยกำไรกว่า 72% ในช่วงต้นปี 2564 ลดลงมาเหลือเพียง 46% ในปี 2565
ดังนั้นการที่เราตัดสินใจลงทุนแบบโฟกัสในสินทรัพย์หรือกองทุนเพียงตัวเดียวจึงถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะหากเกิดมีเหตุการณ์เชิงลบที่คาดไม่ถึงอื่นๆซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้มากระทบกับสินทรัพย์ชนิดนี้ ก็จะส่งผลต่อผลตอบแทนของพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญได้ การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่มีการกระจายน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆที่หลากหลายจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ลงทุนควรนำมาใช้ควบคู่กับกลยุทธ์ DCA
ระยะเวลาและความสม่ำเสมอ
ในโลกของการลงทุน หากนักลงทุนสามารถหยั่งรู้ได้ว่าสินทรัพย์ที่ตนลงทุนจะปรับตัวขึ้นลงในช่วงเวลาใด ก็น่าจะทำให้สามารถหาจังหวะเข้าซื้อและขายทำกำไรได้อย่างง่ายดาย แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว สินทรัพย์หลายประเภทโดยเฉพาะหุ้นมีความผันผวนของราคาสูงและยากต่อการคาดการณ์ทิศทางของราคาแม้ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเองก็ตาม ดังนั้นระยะเวลาและความสม่ำเสมอในการลงทุนจึงมีความสำคัญมาก โดยแนวคิดของ DCA จะเป็นการซื้อสะสมตามวินัย กล่าวคือ ยิ่งช่วงที่ราคาสินทรัพย์ลดลง เรายิ่งได้ต้นทุนที่ถูกลง ยิ่งราคาลงมากก็จะทำให้ผู้ลงทุนได้จำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น แม้เราจะซื้อของแพงขึ้น แต่ก็ทำให้พอร์ตโดยรวมกำไรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงทำให้เราสามารถอยู่ไปกับการลงทุนไปได้อย่างยาวนาน ไม่ตกใจไปกับภาวะตลาดและหนีออกจากตลาดก่อนเวลาอันควร และอาจจะพลาดตกรถไปกับจังหวะขาขึ้นรอบใหญ่ของสินทรัพย์ได้
กล่าวโดยสรุป การลงทุนแบบ DCA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนผ่านวัฏจักรของเศรษฐกิจต่างๆไปได้ อย่างไรก็ตามยังมีกลยุทธ์ในการลงทุนอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องมีวินัยในการลงทุนตามกลยุทธ์นั้นๆ อันจะทำให้เราไม่ออกจากตลาดไปในเวลาที่ผิดพลาดที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินได้ในระยะยาว