9 ขั้น ก้าวสู่เงินล้าน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
9 ขั้น ก้าวสู่เงินล้าน โดยแบ่งง่าย ๆ เป็นสองส่วน ส่วนแรกเพื่อเสริมวินัยทางการเงินอย่างง่าย 3 ข้อ ส่วนอีก 6 ข้อ เป็นเทคนิคในการออกแบบการลงทุนเพื่อให้บรรลุเงินล้าน จำไว้เสมอว่า “ศูนย์คูณอะไรก็ได้ศูนย์” ดังนั้น การลงทุนเพื่อเงินล้านนั้น ต้องเริ่มจากการออมเงินอย่างมีวินัย ถ้าคุณไม่เริ่มออม ไม่ว่าจะมีเทคนิคการลงทุนดีเท่าไรก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เรามาเริ่มนับ 1 – 9 กันเลย
20% Saving Rule
หาได้ 100 ออม 20 ใช้ 80 การออมง่าย ๆ แบบนี้ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง คุณยังคงใช้ชีวิตมีไลฟ์สไตล์ดี ๆ ได้แน่นอน
งานคือเงิน
รายได้เพิ่ม ออมเงินเพิ่ม สำหรับมนุษย์เงินเดือนควรตั้งเป้าการทำงานให้เงินเดือนเพิ่มทุก ๆ ปี เฉลี่ยปีละ 5% เมื่อรายได้เพิ่มก็อย่าลืมออมเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีด้วย นี่ยังไม่รวมการปรับฐานเงินเดือนอย่างก้าวกระโดดจากการย้ายงานหรือการปรับตำแหน่ง
ออมโบนัส
หลาย ๆ คนปลายปีได้โบนัสก้อนใหญ่ ก็ใช้กันแบบไม่ยั้ง เผลอ ๆ เปิดสมุดบัญชีมาอีกทีเงินหายไปเกินกว่าที่ได้มาอีกก็เป็นได้ ดังนั้นควรคิดง่าย ๆ กลับกันกับเงินเดือนปกติ ใช้ 80 ออม 20 แต่เงินส่วนนี้ได้มาแบบไม่คาดฝัน อย่างโบนัส ค่าคอมมิชชั่น รายได้พิเศษอื่น ๆ ควร ใช้ 20 ออม 80
เริ่มลงทุน
เริ่มมีเงินออม ถึงเวลาที่เราจะมาเริ่มตั้งพอร์ตการลงทุนโดยการจัดสัดส่วนง่าย ๆ ด้วยการบริหารความเสี่ยงตามอายุ อายุน้อยเสี่ยงได้มาก–อายุมากเสี่ยงได้น้อย และมีสูตรการจัดสรรพอร์ตการลงทุนง่าย ๆ ดังนี้
110 – อายุปัจจุบัน = % สัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยง
เช่น อายุ 30 ปี: 110 – 30 = ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยง 80% อีก 20% ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ
Auto Saving
การทำ Auto Saving Plan หรือการหักเงินอัตโนมัติจากบัญชีออมทรัพย์เข้าสู่บัญชีเงินลงทุน เป็นเทคนิคการเติมเงินในพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การรอจังหวะหรือรอเงินลงทุนแบบผัดวันประกันพรุ่ง มักจะตามมาด้วยการลืมทำให้เราพลาดโอกาสการลงทุนได้ ดังนั้น “อย่ารอ”
Rebalance พอร์ตการลงทุน
อย่าลืมว่า การลงทุนที่ดีนั้น จะต้องมีการติดตามและทบทวนพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทำปีละ 2 ครั้ง ด้วยวิธีการ Rebalance หรือปรับสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไป หลังจากการปรับราคาตลาด (Mark to Market) แล้ว ให้ยังคงสัดส่วนตามที่ออกแบบไว้ในข้อ (4) ส่วนเงินได้ที่เป็นผลกำไรจากการลงทุน แนะให้นำกลับเข้าไปในพอร์ตการลงทุน หรือที่เรียกว่าการ Re-Invest
วางแผนภาษี
การวางแผนภาษี โดยการใช้เครื่องมือทางภาษี ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้เต็มที่ และเงินจากการประหยัดภาษีนั้น ก็สามารถนำกลับมา Re-Invest ได้อีก การลงทุนในกองทุนรวม อาจจะลงทุนกองทุน ‘SSF หรือ RMF’ ที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเลือกกองทุนอ้างอิงจากการจัดอันดับกองทุนของ MorningStar และเลือกกองที่มีผลงานดีติดต่อกันมากกว่า 3 ปี
ใช้สิทธิสวัสดิการ
สิทธิประโยชน์นี้เป็นข้อได้เปรียบของมนุษย์เงินเดือน ที่บริษัทจะยังพอมีสวัสดิการต่าง ๆ ให้มากบ้างน้อยบ้าง ประเด็นคือเราควรศึกษาให้ชัดเจนว่า บริษัทมีอะไรให้บ้าง และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ จะได้ไม่กระทบกระเป๋าเรา
จัดการความเสี่ยง
การจัดการความเสี่ยง โดยเลือกลงทุนในประกันแบบตลอดชีพ เพื่อเน้นความคุ้มครองที่สูง พร้อม ๆ ไปกับสะสมเงินในประกันชีวิต เริ่มอายุยังน้อย ควรมีทุนประกันเริ่มต้นสักล้านนึง เบี้ยไม่แพงนักราว ๆ เดือนละพันต้น ๆ ปีละหมื่นกว่าบาท แถมยังได้ใช้สิทธิภาษีอีก
ทุก ๆ ปี ทบทวนพอร์ต ทุกวันที่ 31 มีนาคม หลังยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน เพื่อเตรียมจัดการเรื่องภาษีของปีนั้น ๆ กราฟชีวิตสวย ๆ ก็จะมีพอร์ต 1 ล้านได้ภายใน 6 ปี โดยยังคงไลฟ์สไตล์ดี ๆ ได้
สุดท้าย “Achieve tomorrow, today” เริ่มต้นวันนี้เพื่อความสำเร็จในอนาคต