เรื่องต้องรู้ ก่อนเป็นผู้ค้ำประกัน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ในปัจจุบัน หากจะทำสัญญาเงินกู้ หรือขอสินเชื่อต่างๆ สถาบันการเงินบางแห่ง ต้องการเพิ่มความมั่นใจในตัวลูกหนี้มากขึ้น จึงกำหนดให้มี “ผู้ค้ำประกัน” เข้ามาค้ำประกันหนี้ที่ลูกหนี้ทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินนั้นๆ เพราะอย่างน้อยหากลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ก็ยังมีผู้ค้ำประกันคอยรับผิดชอบอยู่
ฉะนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเซ็นค้ำประกันให้ใครจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ำประกันนั้นๆ อย่างละเอียดเสียก่อน เพราะการค้ำประกันสามารถพลิกชีวิตใครหลายๆ คน ให้กลายเป็นหนี้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้จะเป็นการค้ำประกันให้คนรู้จัก หรือญาติพี่น้อง แต่ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ คุณเองนั่นแหละที่จะต้องแบกรับภาระหนี้แทน
ผู้ค้ำประกัน
คือ บุคคลหนึ่งทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้แทนลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
ค้ำประกันอย่างไรให้ปลอดภัย
- ดูรายละเอียดสัญญาเงินกู้ ว่า ระบุจำนวนเงินกู้ไว้เป็นจำนวนเท่าใด และมีทรัพย์สินอื่นๆ เป็นประกันหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะผู้ค้ำประกันจะต้องเข้าไปค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาเงินกู้ดังกล่าว
- สัญญาค้ำประกันต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
- ควรอ่านสัญญาค้ำประกันให้ละเอียดและครบถ้วนก่อนเซ็นค้ำประกัน
ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
- ผู้ค้ำประกันจะรับผิดแทนลูกหนี้ ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงในสัญญาเงินกู้เท่านั้น
- หากเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้เท่าไร ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันก็ลดลงเท่านั้นเช่นกัน และถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ที่ลดลงไม่ครบถ้วน ผู้ค้ำประกันชำระส่วนที่เหลือ หรือถ้าลูกหนี้ไม่ชำระเลยแล้วผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามที่ลดลงครบถ้วน ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากการค้ำประกัน
- หากมีข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ค้ำประกันมากกว่าที่ระบุในข้อ 2. ข้อตกลงนั้นจะเป็นโมฆะ
- ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิด เมื่อยื่นขอชำระหนี้ตามกำหนดเวลา แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้นั้น
- ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด หากเจ้าหนี้ยอมขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วยในการขยายระยะเวลาดังกล่าว
กรณีลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบเท่าไร
ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบก่อนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันก่อนที่หนังสือแจ้งจะไปถึงผู้ค้ำประกัน ถ้าเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันภายในเวลาที่กำหนด ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นเวลาที่กำหนดข้างต้น
ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันควรตกลงกับเจ้าหนี้เพื่อกำหนดวงเงินและระยะเวลาที่ค้ำประกันให้ดีก่อนเซ็นสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ทุกประการ ซึ่งหมายถึงผู้ค้ำประกันจะรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้เฉพาะในส่วนที่ตนเองระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันเท่านั้น โดยหลังจากที่ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้วก็สามารถเรียกให้ลูกนี้ชำระเงินคืนตามจำนวนเงินที่ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่นๆ ได้
เพราะฉะนั้น ก่อนจะค้ำประกันให้ใครควรไตร่ตรองให้รอบคอบ นอกจากจะถามลูกหนี้ว่าเขาพร้อมจะเป็นหนี้และมีความสามารถในการชำระหนี้จนหมดไหม เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่าพร้อมที่จะเสี่ยงเป็นหนี้โดยไม่ตั้งตัวหรือไม่ รวมถึงศึกษากฎหมายและข้อสัญญาให้ดีจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนภายหลัง