วางแผนเกษียณ ยิ่งเร็ว = ยิ่งดี
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
คุณคิดว่าการ ‘วางแผนเกษียณ’ จำเป็นหรือไม่?
ยิ่งวางแผนเร็ว = ยิ่งดีจริงหรือ?
แล้วถ้าต้องวางแผนควรเริ่มเมื่อไหร่? เริ่มยังไงดี?
ช่วงที่หนึ่ง : แรกเกิดจนถึงเริ่มทำงานอายุ 22 ปี (จบปริญญาตรี) เป็นช่วงวัยที่คุณยังไม่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เช่น ค่าคลอด ค่าเลี้ยงดู ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ช่วงที่สอง : วัยทำงานจนถึงเกษียณ (อายุประมาณ 22–60 ปี) เป็นวัยที่คุณเรียนจบ ทำงาน มีรายได้ แต่ก็เป็นวัยที่มีรายจ่ายมากมายเกิดขึ้นรอบตัว เพราะเป็นวัยที่สร้างตัวมีครอบครัว ต้องการความมั่นคงในชีวิต ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เช่น ค่าใช้จ่ายลงทุนในตัวเอง (เรียนต่อปริญญาโท) ค่าเก็บเงินแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ รวมถึงเมื่อมีลูก ช่วงวัยนี้คุณจะอยู่ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของลูกที่เกิดมาด้วย
ช่วงที่สาม : วัยเกษียณ (อายุประมาณ 60–80 ปี : ในที่นี้กำหนดอายุขัยที่ 80 ปี) เป็นวัยที่คุณไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้แล้ว แต่คุณยังมีรายจ่ายเกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายกินอยู่ในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นตามวัย
คำถามคือ คุณคิดว่าการวางแผนเกษียณควรเกิดขึ้นช่วงใดในภาพนี้? หลายคนมักคิดว่ายังเหลือเวลาอีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ ค่อยวางแผนใกล้เกษียณก็ได้เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายการเงินด้านอื่น ๆ มากมาย
สุดท้ายเมื่อวางแผนเก็บเงินใกล้เกษียณก็มักพบว่าไม่ทันเสียแล้ว และช่วงที่สามวัยเกษียณ คุณไม่มีรายได้เข้ามาแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายทุกเดือน ซึ่งอาจทำให้คุณยังคงต้องทำงานหารายได้ต่อหรือพึ่งพาลูกหลาน
ดังนั้น ‘การวางแผนเกษียณ’ หากเริ่มได้เร็วก็จะยิ่งดี เพราะเราจะมีเวลาวางแผนและปรับเปลี่ยนแผนได้ และวันนี้ Wealth Me Up มี 5 ขั้นตอนวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ มาฝาก…
- หาข้อมูลอายุเพื่อวางแผนเกษียณ เช่น อายุปัจจุบันของคุณ อายุที่คาดว่าจะเกษียณ อายุขัย
- คำนวณเงินที่จะใช้หลังเกษียณ เช่น หลังเกษียณต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี คุณจะต้องมีเงินก้อนจำนวนเท่าใด (คิดรวมอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้น)
- เช็กเงินเก็บและลงทุนเพื่อการเกษียณ เช่น ปัจจุบันคุณมีเงินเก็บออมเพื่อเป้าหมายการเกษียณจำนวนเท่าใด? เพียงพอหรือไม่? (เงินประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, RMF, ประกันบำนาญ เป็นต้น)
- วางแผนออมเงินเพิ่มเพื่อเกษียณ โดยขั้นตอนนี้คุณอาจต้องใช้ความรู้ทางด้านการเงินการลงทุนหรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายเกษียณเป็นไปตามแผนที่วางไว้
- คำนวณเงินออมเพื่อการเกษียณที่ขาดอยู่ หากคำนวณแล้วพบเงินเก็บไม่เพียงพอ อาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนตามความเหมาะสม
เมื่อพร้อมสำหรับการวางแผนเกษียณแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติ โดยเริ่มออมกับแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณที่สำคัญ ๆ เช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนรวม RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งจะเป็นตัวช่วย ‘เกษียณสุข’ ให้กับคุณได้