เก็บภาษีจริง! รายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
สรรพากรได้ออก “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ” ส่งผลให้คนที่มีรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วประเทศต้องเตรียมศึกษาและวางแผนภาษีรับปีใหม่ 2567 โดยประกาศมีสิ่งหลักๆ ที่ต้องรู้และเข้าใจ ดังนี้
เกี่ยวข้องกับใคร และเริ่มใช้เมื่อไร?
- ประกาศฉบับนี้ ส่งผลให้ ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ (พาร์ทเนอร์) บนแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น คนขายของออนไลน์, ร้านอาหาร Food Delivery, Rider ที่เป็นคนส่งสินค้า/อาหาร, Driver ที่เป็นคนขับรถ/Taxi เป็นต้น ไม่ว่ารายได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นหรือแถลงรายได้กับสรรพากร ให้สอดคล้องหรือไม่น้อยไปกว่าที่ได้รับจากแอปฯ
- โดยแอปฯ ต้องเริ่มส่งข้อมูลรายได้ที่พาร์ทเนอร์ได้รับตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป ให้สรรพากร สำหรับแอปฯ ที่มียอดขายหรือรายได้รวมกันเกินปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแอปฯ ที่หลายคนคุ้นเคยและมีพาร์ทเนอร์จำนวนมากทั่วประเทศ เช่น แอป Shopping, Food Delivery, Taxi/Car Ride
รายได้ก่อนปี 67 ยังต้องยื่นภาษีหรือไม่?
แม้รายได้ก่อนปี 67 ของพาร์ทเนอร์ ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้แอปฯ ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร แต่รายได้ทุกประเภทหากไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ล้วนต้องนำไปยื่นภาษี เช่นเดียวกับรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอื่น
ดังนั้นรายได้ที่ผ่านมาของพาร์ทเนอร์ เช่น รายได้ปี 66 ที่ปกติต้องยื่นภาษีช่วง ม.ค.-มี.ค. 67 ก็ควรนำไปยื่นภาษีให้ถูกต้อง และหากมีข้อสงสัยก็สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ได้ ดีกว่าถูกตรวจสอบและเรียกภาษีเพิ่มภายหลัง
ยื่นภาษีไม่ครบ จะเป็นอย่างไร?
การยื่นภาษีสิ้นปี ต้องทำช่วง ม.ค.-มี.ค. ปีถัดไป (กรณียื่นออนไลน์ขยายอีกประมาณ 8 วัน) เพื่อคำนวณภาษีและชำระเพิ่ม (หรือขอคืน) ซึ่งภาษีที่คำนวณได้สรรพากรจะยึดตามที่ผู้มีรายได้แถลงมา โดยอาจมีการตรวจสอบหรือขอเอกสารเพิ่มเท่าที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม จากประกาศฯ ที่ออกมานั้น แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องส่งข้อมูลรายได้พาร์ทเนอร์ให้สรรพากรภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบบัญชี (ส่วนใหญ่ตรงกับ 31 ธ.ค.) ดังนั้นสรรพากรจะรู้รายได้พาร์ทเนอร์ครบทุกแอปฯ ประมาณ สิ้นเดือน พ.ค. ซึ่งหากสรรพากรพบว่ารายได้ที่พาร์ทเนอร์ยื่นมาไม่สอดคล้องกับที่แอปฯ แจ้งมา ก็อาจมีการเรียกภาษีส่วนที่ขาด พร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนได้
ภาษีที่ต้องจ่าย แพงแค่ไหน?
ภาษีขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น จำนวนและประเภทรายได้ ค่าลดหย่อน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น Rider ส่งอาหาร, Driver ขับ Car/Taxi (ที่ไม่ใช่การขับรถของลูกค้า), คนขายอาหาร Delivery, คนขายของออนไลน์ รายได้ที่ได้รับโดยทั่วไป อาจถือเป็นเงินได้ 40(8) และเข้าเงื่อนไขหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของรายได้ (ไม่จำกัดเพดาน) หากสมมติ
- รายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท ภาษีอยู่ที่ปีละ 1,500 บาท คิดเป็น 0.25% ของรายได้ทั้งปี
- รายได้เฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาท ภาษีอยู่ที่ 19,500 บาท คิดเป็น 1.63% ของรายได้ทั้งปี เท่านั้น
หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ตามเอกสารหลักฐาน) ซึ่งอาจสูงกว่า 60% ของรายได้ ภาษีที่จ่ายก็จะต่ำลง หรือหากมีรายได้รูปแบบอื่นจากแอปฯ เช่น เงินรางวัลหรืออินเซนทีฟ ภาษีก็อาจต่างออกไป
* สมมติมีเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
** พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 629 พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เช่น (7) การทํากิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มจําหน่าย (15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ (25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ ร้อยละ 60
ยื่นภาษี ตอนไหนบ้าง?
พาร์ทเนอร์ซึ่งส่วนใหญ่มีเงินได้ 40(8) นอกจากการต้องยื่น (1) ภาษีสิ้นปี ช่วง ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป ตามแบบ ภ.ง.ด.90 แล้ว ยังต้องยื่น (2) ภาษีกลางปี ช่วง ก.ค.-ก.ย. ของปีนั้น ตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย
อยากลดหย่อนภาษี ทำยังไงได้บ้าง?
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เช่น
- เก็บเงินผ่านประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ที่มีเงินคืนที่แน่นอนตามสัญญา โดยลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 100,000 บาท
- เก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณผ่านประกันชีวิตบำนาญ ที่มีเงินคืนรายปีที่แน่นอนตั้งแต่อายุ 55 ปี (ขึ้นกับแบบประกัน) โดยลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี สูงสุดปีละ 200,000 บาท
- ลงทุนกองทุน SSF/RMF/ThaiESG ที่มีทางเลือกทั้งความเสี่ยงต่ำที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ ความเสี่ยงสูงที่เน้นลงทุนหุ้นเพื่อผลตอบแทนระยะยาว
- ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ที่นำส่วนของดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 100,000 บาท
ภาษีเงินได้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คนวัยทำงานไม่ว่าอาชีพไหน ควรศึกษาและอัปเดตความรู้ทางภาษี เพื่อให้พร้อมวางแผนและจัดการได้ทันเวลา